ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 2)


 
            จากตอนที่ 1 ที่ผมพูดถึงเมื่อคราวที่แล้วนะครับ ผมได้พูดถึงที่มา และปัญหาว่าทำไมผมถึงต้องเขียนเรื่องนี้ (อ่านได้ที่ : http://ausautis.blogspot.com/2023/02/1.html ) ทีนี้ ผมจะเล่าถึงการช่วยเหลือบุคคลออทิสติก ในกรณีที่เป็นถึงผู้ใหญ่ ทั้งนักวิชาการ และผู้บริหารของโงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะในแต่ละท้องที่ต่างก็มีบริบท และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในเรื่องนี้จะเล่าถึงบริบทของผู้บริหารที่มีบทบาทในการพัฒนาบุคคลออทิสติกนะครับ 

            ผู้บริหารคือคนที่สำคัญที่สุดในการดูแล และบริหารโรงเรียน ผู้บริหารมีหน้าที่ในการบริหารโรงเรียน ให้มีประสิทธิภาพในทุก ๆ ด้าน ทั้งการเรียน งานวิชาการ งานกิจการนักเรียน งานบุคคล งานบริหาร งานธุรการ งานการเงิน เป็นต้น ผู้บริหารถามว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลออทิสติกไหม คำตอบคือ เกี่ยวเต็ม ๆ เลยครับ เพราะผู้บริหารคือคนกำหนดนโยบายว่าโรงเรียนจะสามารถรองรับบุคคลออทิสติกเข้าเรียนได้หรือไม่ จะสรรหาครู งบ และสิ่งแวดล้อมให้กับบุคคลออทิสติกได้อย่างไร จะสรรหาการเรียนและกิจกรรมดี ๆ แก่บุคคลออทิสติกได้อย่างไร และจะกำหนดทิศทางในการเรียนรวมได้อย่างไร มิใช่แค่นั้นนะครับ ผู้บริหารยังต้องมีความรู้ ความเข้าใจ อัตลักษณ์ของบุคคลออทิสติก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะครับ 

            ในความคิดเห็นของผมนั้น การที่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งจะรับบุคคลออทิสติกให้ได้นั้น คนที่มีอำนาจมากที่สุดคือผู้บริหาร ครูคือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บริหาร ทีนี้ผมจะบอกขั้นตอนที่อยากฝากถึงผู้บริหารทุก ๆ คน อันนี้ผมไม่ได้บังคับใครนะครับ แต่ผมแนะนำวิธีที่ Soft ที่สุด แต่ได้ผลที่สุด ถึงอาจจะไม่ทันใจก็ตาม 


            สำหรับขั้นตอนในการเปิดรับบุคคลออทิสติกเข้าโรงเรียนนั้น ผู้บริหารจะมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนนะครับ ซึ่งจะมีทั้งหมด   ขั้นตอน ดังนี้


            1.ให้ผู้บริหารคุยกับผู้ปกครองก่อน ถ้าหากเจอผู้ปกครองของลูก ๆ ที่มีภาวะของออทิสติก ในกรณีที่พอจะช่วยเหลือตนเองได้ อาทิ พอฟังคำสั่งได้ , ทานอาหารเองได้ , พอเข้าห้องน้ำได้ , พอสื่อสารได้ ไม่ชัดไม่เป็นไร , หยิบ - จับ สิ่งของได้ เป็นต้น ทั้งในกรณีที่ผู้ปกครองเข้าหาเองหรือผู้บริหารไปหาเองก็ตาม ขอให้ท่านคิดว่า ท่านกำลังจะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นของบุคคลออทิสติก ท่านกำลังจะทำให้ผู้ปกครองมีความหวัง ขอให้พูดคุยกับผู้ปกครองเถอะครับ แต่ขอให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ พูด และต้องมีเหตุมีผลทั้งสองฝ่าย อย่าใช้อารมณ์ เพราะถ้าใช้อารมณ์แล้วทุกอย่างจะพังโดยที่ไม่รู้ตัว และถ้าโรงเรียนไม่มีความรู้เรื่องบุคคลออทิสติก ก็สามารถทำในข้อ 2. ได้ครับ และข้อนี้ผมอยากให้ผู้บริหารรับเด็กออทิสติกก่อนนะครับ เพราะเห็นแก่อนาคต และไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาอีก 

            2.ปรึกษาพัฒนาสังคมจังหวัด และศูนย์การศึกษาพิเศษ ในการที่จะจัดโรงเรียนเรียนรวม ผู้บริหารจะมีความรู้เรื่องนี้หรือไม่ ถ้าไม่รู้ไม่เป็นไร ผู้บริหารควรจะปรึกษากับทางพัฒนาสังคมจังหวัด เพื่อที่จะหาทางดูแลและช่วยเหลือบุคคลออทิสติกให้สามารถพัฒนาศักยภาพ และไปสู่สังคมได้อย่างมีความสุข และต้องติดต่อกับศูนย์การศึกษาพิเศษด้วยนะครับ เพื่อที่จะหาช่องทางในการดูแลเด็กพิเศษ และบุคคลออทิสติก รวมทั้งจัดการสอนให้มีความเหมาะสมแก่เด็กพิเศษฒากขึ้น ถ้าหากว่าติดขัดหรือไม่เข้าใจตรงไหนควรถามได้เลยนะครับ เพื่อให้โรงเรียนของท่านเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรวม เป็นโรงเรียนเพื่อคนทั้งมวลจริง ๆ ครับ 

            3.ประชุมผู้ปกครอง ตัวแทนของพัฒนาสังคมจังหวัด ครูการศึกษาพิเศษ และบุคคลที่เกี่ยวข้องให้จัดการเรียนรวม ควรจะมีการจัดประชุมเรื่องนี้ อันนี้สำคัญมาก จะมาอ้างว่าติดภารกิจติดงานไม่ได้ เพราะเป็นการพูดคุย ว่าจะดูแลบุคคลออทิสติกอย่างไร จะจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้บุคคลออทิสติกอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดังคนปกติ และเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้ดีขึ้น อีกทั้งถ้าเด็กออทิสติกมีพฤติกรรมก็จะสามารถปรับให้ดีขึ้นได้ แต่ต้องใช้เวลา การพูดคุยนอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีความต่อเนื่องในการพูดคุย และมีการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อให้ลดปัญหาด้านการเรียนของบุคคลออทิสติกมากขึ้น อาทิ อุปกรณ์ไอที เครื่องเขียน หนังสือ รูปภาพ และมีการติดต่อถึงโค้ชในการพัฒนาศักยภาพด้านอื่น ๆ เฉพาะทางอีกด้วย

            4.ทดสอบความสามารถของเด็ก เรื่องนี้ต้องมีการสังเกตว่า เด็กสามารถทำวิชาไหนได้ดี ทำสิ่งไหนได้ดีบ้าง ชอบวิชาอะไร ชอบคุยอะไร สิ่งไหนที่เด็กจะอยู่ได้นาน สิ่งไหนที่เด็กรักมาก และสิ่งไหนที่ต้องปรับปรุง อาทิ น้องเอ(นามสมมติ) ชอบวิชาเลข ชอบดูการ์ตูน แต่ไม่ชอบเสียงดัง ชอบกระโดดไปมา พยายามจะคุยกับเพื่อนโดยคำพูดบางคำ และร้องไห้เวลากลับบ้านไม่ตรงเวลา เป็นต้น จากนั้นผู้บริหารและครูที่เกี่ยวข้องก็ช่วยกันประเมินเด็ก และเสร็จแล้วจะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ 

            5.เมื่อทดสอบเสร็จแล้ว ควรพิจารณาว่าเด็กชอบอะไร และต้องปรับปรุงตรงไหนบ้าง อันนี้สำคัญมาก และอย่ามองข้ามเป็นอันขาด เมื่อทดสอบแล้ว ครูจะต้องมองว่าเด็กชอบทำอะไร ชอบวิชาไหน ควรจะอยู่ในแผนการเรียนไหน ควรจะเรียนกับเพื่อนไหม และเรียนกับเพื่อนคาบไหนได้บ้าง อันนี้จะขอยกตัวอย่างนะครับ ว่าครูประเมินน้องบี(นามสมมติ) ว่าน้องชอบภาษา ชอบอ่านหนังสือประวัติศาตร์ ชอบดูหนัง แต่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ วัน ๆ จะคุยแต่ภาษา ประวัติศาสตร์ หนังต่าง ๆ เป็นคนที่ยืดหยุ่นไม่เป็น กลับบ้านไม่ตรงเวลาร้องไห้ ครูก็เลยจัดการสอน คือภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น(แต่เน้นใช้จริงนะครับ เพราะเด็กออทิสติกจะเรียนรู้จากการใช้จริง) เรียนภาษาไทย(เอาแบบที่ต้องใช้และฝึกทักษะ) เลข(สอนเสริม เพราะเรียนไม่ทันเพื่อน) ศิลปะ กิจกรรมเข้าสังคม ซึ่งต้องเรียนกับเพื่อนเพื่อฝึกการพูด และฝึกทักษะสังคม (อ่านได้ที่ : http://ausautis.blogspot.com/2022/11/blog-post.html) ส่วนกิจกรรม จะชอบเรื่องรัักาารอ่าน และดนตรี ก็ให้ฝึกทักษะแบบให้แกร่งขึ้น เพื่อให้เขาได้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง 

            6.กระจายงานให้ครูที่รับผิดชอบวิชานั้นดูแล เรื่องนี้เป็นขั้นตอนที่ผู้บริหารต้องกระจายงานว่าในระดับชั้นนี้ ห้องนี้นะ ใครเป็นครูที่ปรึกษา ใครคือครูผู้สอน และใครคือครูที่เด็กไว้ใจที่สุด คนละอย่างกันนะครับ ครูที่ปรึกษา ครูผู้ช่วย และครูพี่เลี้ยง ควรจะมีหน้าที่ในการดูแลบุคคลออทิสติกเป็นหลักเรื่องของการเรียน การดำรงชีวิต การเข้ากับเพื่อน การร่วมกิจกรรม และการเสริมสร้างพัฒนาการ ครูผู้สอนมีหน้าที่ในการดูแลบุคคลออทิสติกด้านการเรียน ด้านการเข้ากับครู ด้านการเสริมสร้างพัฒนาการ อีกทั้งต้องรายงานการเรียนให้ครูที่ปรึกษาทราบ และส่งต่อไปยังผู้บริหาร ส่วนครูที่เด็กไว้ใจที่สุดมีหน้าที่ในการดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนบุคคลออทิสติกอย่างต่อเนื่อง และเสริมสร้างพัฒนาการให้เข็มแข็ง อันนี้อย่าลืมว่า บุคคลออทิสติกถ้าผูกพันกับใครได้ ก็จะผูกพันกับเขาไปนาน ๆ จนแก้ไขได้ยากนั่นเองครับ

            7.อบรมเรื่องของอัตลักษณ์เด็กพิเศษ เรื่องนี้ผู้บริหารต้องส่งบุคลการครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องไปอบรมเรื่องของเด็กพิเศษ เพื่อให้ทราบถึงบริบทของเด็กพิเศษ วิธีการดูแล และวิธีการสอนของเด็กพิเศษ และจะวางตัวกับบุคคลออทิสติกอย่างไร จากนั้นจึงต้องกระจายข้อมูลเรื่องของเด็กพิเศษและบุคคลออทิสติกให้โรงเรียนั้น ๆ ทราบอย่างทั่วถึง เพื่อที่จะหาวิธีในการรับมือบุคคลออทิสติกและเด็กพิเศษต่อไปในอนาคต

            8.ให้ครูจัดหาครูผู้ช่วย และครูพี่เลี้ยงในการดูแลกลุ่มเด็กพิเศษ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องคุยกับครูที่ปรึกษา หรือครูประจำชั้นในการหาครูผู้ช่วย ครูพี่เลี้ยง ถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้น เพื่อให้เด็กพิเศษและบุคคลออทิสติกได้รับการดูแลที่ดีตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน และเป็นวิธีที่ทำให้เด็กได้รับการเองใจใส่ ไม่เคว้งคว้าง มีอะไรก็สามารถพูดคุยได้ และเด็กพิเศษก็จะสามารถเรียนอย่างมีความข จริงอยู่ที่ครอบครัวมีบทบาทมากที่สุด แต่บางอย่างครอบครัวอาจจะช่วยไม่ได้เหมือนที่โรงเรียน ดังนั้น ครอบครัวต้องร่วมมือกับที่โรงเรียน เพื่อให้บุคคลออทิสติกและเด็กพิเศษมีที่ยืนในสังคม

            9.จัดหาเพื่อน พี่ น้อง และฝึกการเข้าสังคมแก่บุคคลออทิสติก อันนี้พวกผู้บริหารมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาดนะครับ เพราะในความจริงนั้นบุคคลออทิสติกไม่ได้เจอแค่คนในครอบครัว หรือพี่ป้าน้าอาเท่านั้น แต่ต้องเจอกับคนในสังคมด้วย ดังนั้นถ้าปิดโอกาสในการเจอสังคม คิดผิดมหันต์ครับ บุคคลออทิสติกควรจะเรียนรู้เรื่องทักษะทางสังคม ตั้งแต่การทักทาย เริ่มพูด การให้ การรับ การเจอกัน สบตากัน หรือจะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน ผมว่าโรงเรียนจะไม่ฝึกบุคคลออทิสติกให้สามารถเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่ใช่แค่นั้น บุคคลออทิสติกจะต้องมีเพื่อน พี่ น้อง คอยดูแลในการเรียน และการใช้ชีวิต ถามว่าทำไมต้องทำ เพื่อเป็นการฝึึการเข้าสังคม ได้เรียนรู้การเข้าใจตนเองและคนอื่น และได้ประสบการณ์ในการดูแลเพื่อนมนุษย์ เพราะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปของคนสมัยนี้

            10.ดูแล นิเทศ ติดตาม การเรียนบุคคลออทิสติกอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ข้อนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการดูแล นิเทศ ติดตาม อย่างใกล้ชิด ว่าบุคคลออทิสติกเรียนเป็นไงบ้าง ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ได้หรือไม่ สามารถทำงานกับเพื่อน เข้ากับเพื่อนได้หรือไม่ มีปัญหาอะไรไหม ไม่สบายใจอะไรหรือเปล่า เป็นต้น เรื่องนี้จะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง หากมีปัญหาอะไรก็สามารถคุยกันได้ และคุยกับผู้ปกครองเพื่อหาแนวทางปรับลูกหลานให้ดีขึ้น และต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อบุคคลออทิสติกได้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถ้าพัฒนาได้ กำไรจะตกไปที่ทุกท่านนะครับ มิใช่แค่ครอบครัวอย่างเดียว 

            จะเห็นได้ว่าขั้นตอนที่ผู้บริหารต้องทำนั้น เป็นประโยชน์แก่บุคคลออทิสติก อย่าคิดว่าเรื่องของบุคคลออทิสติกจะเป็นเรื่องแค่โรงเรียนปัญญานุกูล และโรงเรียนการศึกษาพิเศษเท่านั้น แต่ทุกโรงเรียนมีโอกาสรับได้ แต่ขอให้มี "ใจรัก" ก็พอแล้ว ผมอยากฝากบอกผู้บริหารโรงเรียนว่า "ท่านจะเลือกปูอนาคตให้บุคคลออทิสติก หรือตัดอนาคตให้บุคคลออทิสติก อยู่ที่ท่านแล้วนะครับ ผมหวังว่าสักวันหนึ่ง ทุกโรงเรียนก็จะต้องรับบุคคลออทิสติกเข้าเรียนโดยไม่มีเงื่อนไข ขอให้ผู้บริหารรัก เข้าใจ จริงใจกับบุคคลออทิสติกให้มากกว่านี้เถิดครับ หากติดขัดหรือต้องการข้อมูลจากผม ก็สามารถติดต่อที่ aussadakornkhantee@gmail.com นะครับ"  ตอนต่อไปก็จะเป็นบทบาทของครูทุก ๆ วิชา ที่มิใช่ครูการศึกษาพิเศษ ว่าจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกอย่างไร สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ




อัษฎากรณ์ ขันตี
27 กุมภาพันธ์ 2566

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 3)

ทักษะทางสังคมสำหรับบุคคลออทิสติก