ทักษะทางสังคมสำหรับบุคคลออทิสติก


         

            คำว่า "สังคม" ในที่นี้ทุกคนจะต้องได้ยินแน่นอน เพราะเราอยู่ร่วมกันทุกวัน เราเจอกันทุกวัน เราต้องอยู่ร่วมกันทุกวัน ในคำว่า "สังคม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้กล่าวว่า 


"สังคม [คมมะ] น. คนจํานวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบกฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สําคัญร่วมกัน เช่น สังคมชนบท วงการหรือสมาคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น สังคมชาวบ้าน. ว. ที่เกี่ยวกับการพบปะสังสรรค์หรือชุมนุมชน เช่น วงสังคม งานสังคม. (ป.).[คมมะ] น. คนจํานวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบกฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สําคัญร่วมกัน เช่น สังคมชนบท

วงการหรือสมาคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น สังคมชาวบ้าน. ว. ที่เกี่ยวกับการพบปะสังสรรค์หรือชุมนุมชน เช่น วงสังคม งานสังคม. (ป.)."


            ในความคิดของผม คำว่า "สังคม" คือคนที่มีมากกว่า 1 คน ที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายและความสนใจร่วมกัน และอยู่ร่วมกันตามระเบียบกฎเกณฑ์ แล้วทำไมในสังคมต้องมีกฎเกณฑ์ล่ะ คำตอบคือ 1) เพื่อหาฉันทามติร่วมกันในการอยู่ร่วมกันให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด 2) ง่ายต่อการควบคุม หากเกิดเรื่องร้ายแรงหรือทำผิดกฎ 3) เป็นการควบคุมคนในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยที่มีผลเสียน้อยที่สุด ในการเข้าสังคมจะต้องมีสิ่ง ๆ หนึ่งที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นความถนัดส่วนบุคคลก็ได้  อาจจะเป็นเป้าหมาย ความสามารถ อุดมการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ หรือจะเป็นเรื่องของเงินทอง ผลประโยชน์ร่วมกันก็ได้ครับ 

        คนเราจะอยู่คนเดียวตลอดไปได้หรือไม่..คำตอบคือ ไม่ได้ครับ ความเป็นจริงที่ทุกคนต้องเจอคือสังคม ถามว่าในสังคมเราต้องเจออะไรบ้าง คำตอบคือ เจอคนที่หลากหลาย เจอคนที่สนใจ ความสามารถ อุปนิสัยที่แตกต่างกัน ทุกคนต่างมีเรื่องราวที่มีทั้งดีและไม่ดีไม่เหมือนกัน บางคนโชคดี บางคนอาภัพ บางคนมีแฟนรวย บางคนมีลูกน่ารัก บางคนวาดภาพเก่ง บางคนขับเบนซ์ บางคนชอบเที่ยว บางคนชอบเล่น เป็นต้น ทุกคนต่างมีอุปนิสัยที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน 

        บุคคลออทิสติกอย่างที่บางคนพอจะทราบแล้วว่า บุคคลออทิสติกจะมีความผิดปกติในเรื่องของระบบสมอง ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร การเรียนรู้ พฤติกรรม การเข้าสังคม สิ่งที่ผมกำลังจะพูดในวันนี้คือเรื่องสังคม บุคคลออทิสติกมักจะมีปัญหาในการเข้าสังคมอยู่หลายข้อ อาทิ ไม่ทราบว่าจะทักทายอย่างไร ไม่ทราบว่าจะวางตัวอย่างไรเมื่อเกิดสถานการณ์นั้น ๆ ไม่ทราบว่าคนที่อยากจะคุยว่างอยู่หรือเปล่า พูดโดยที่ไม่ทราบว่าคนฟังอยากจะฟังด้วยหรือไม่ โทรตอนไหน-เวลาไหน ถ้าเราถูกตำหนิควรจะทำตัวอย่างไร การสนทนาและการเล่าเรื่องควรจะทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พบเจอเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น จริง ๆ ยังมีมากกว่านี้เยอะแยะเลยครับ

            จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้บุคคลออทิสติกต้องเรียนรู้เรื่องของทักษะทางสังคม หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Social Skills หรือ Social Competence ซึ่งเรียงนี้ถือว่าสำคัญมากเลยนะครับ เพียงแต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่านั้น แล้วทำไมถึงต้องเรียนเรื่องนี้ล่ะครับ

            1. เพื่อให้บุคคลออทิสติกรู้จักการทักทายตนเอง ทักทายผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่การมองหน้า-สบตา การพนมมือ ยกมือไหว้ สวัสดีครับ/สวัสดีค่ะ เราชื่ออะไร นามสกุลอะไร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสอนถึงการใช้สีหน้าในการทักทาย การใช้ฝีปากที่ถูกวิธีอีกด้วย ยกตัวอย่างนะครับ

            (สมมุติ) ในขณะที่ผมกำลังเดินไปหาเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่ได้เจอกันนานมากที่ห้างสรรพสินค้าในย่านปินเกล้า ผมได้นัดเจอทางโทรศัพท์มาสองสามครั้ง แต่ก็พลาดเนื่องจากมีภารกิจ ในวันนี้ก็สะดวกมานัดเจอจนได้ ผมเลยนัดเจอเขาที่ร้านอาหารฝรั่งร้านหนึ่ง ผมก็รอประมาณ 15-20 นาที เพื่อนก็เลยมาหา ผมเลยมองหน้า แล้วยิ้มน้อย ๆ แบบพอดี ทีนี้ก็เข้าบทสนทนานะครับ

            เพื่อน : สวัสดีค่ะพี่อัษ (ยกมือไหว้ มองหน้าแล้วยิ้ม) 

            อัษ : สวัสดีครับผม (ยกมือไหว้ มองหน้าแล้วยิ้ม) 

            เพื่อน : สบายดีไหมคะพี่อัษ

            อัษ : สบายดีครับผม ช่วงนี้ผมย้ายมาอยู่กรุงเทพแล้วครับ ผมย้ายมาอยู่ที่นี่สองปีแล้ว ผมทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วเพื่อนเป็นอย่างไรบ้างครับ

             เพื่อน : สบายดีค่ะ ตอนนี้เราได้มาทำงานอยู่ที่ห้องแล็บ ที่มหาวิทยาลัย ช่วงนี้งานจะยุ่ง ๆ เลยไม่ค่อยได้คุยกัน ขอโทษด้วยนะคะ

             อัษ : ไม่เป็นไรครับ ถ้าอย่างนั้น..วันนี้ผมจะพาไปทานพิซซ่ากันนะครับ 

            เพื่อน : ได้เลยค่ะ

            2. เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้มีโอกาสแนะนำตนเองได้อย่างถูกต้อง ทั้งในแบบทางการ หรือไม่ทางการ หรือตามสถานการณ์ต่าง ๆ อันนี้ของยกตัวอย่าง(สมมุติ)ในการแนะนำตัวเพื่อสัมภาษณ์งานนะครับ "สวัสดีครับ กระผมชื่อนายอัษฎากรณ์ ขันตี จบการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผมมีประสบการณ์ในการเขียนเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานในจังหวัดเพชรบุรี ทำระบบการบริหารจัดการสินค้าให้กับโรงงานท้องถิ่น ผมต้องการทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ด้านเว็บไซต์ และผมอยากมาทำงานที่นี่เพราะว่าหน่วยงานนี้มีความเป็นกันเอง เข้าใจอัฒลักษณ์ของบุคคลออทิสติกครับ"

            3. เพื่อให้บุคคลออทิสติก ได้รู้จักการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่าจะวางตัวอย่างไร เมื่อคนที่จะคุยเขายุ่งอยู่ หรือจะเป็นการวางตัวเมื่อต้องไปรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้อื่น หรือทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น นายอัษอยากจะคุยกับเพื่อน แล้วทีนี่เพื่อนคุยเรื่องงาน แล้วสีหน้าที่คุยมีความเคร่งเครียดอยู่ เลยตัดสินใจที่ไม่ควรจะเข้าไปคุย อันนี้ขอให้เข้าใจว่าคนที่จะไปคุยด้วยเขาไม่สะดวกจริง ๆ และถ้าวันไหนหรือตอนไหนที่สะดวกคุยแล้ว เราจึงจะเข้าไปคุยได้ครับ หรือจะเป็นกรณีหนึ่ง คือการรับประทานอาหารกับคนอื่น การจะหนิบเก้าอี้ ควรจะยกต่ำ ๆ ไม่ควรที่จะลาก แล้วการทานอาหารต้องค่อย ๆ ทาน ห้ามเคียวเสียงดัง ห้ามคุยเสียงดัง และเวลาที่จะโทรศัพท์กับใคร ควรที่จะขออนุญาตคนร่วมโต๊ะว่า "ขออนุญาตรับโทรศัพท์นะครับ" และแยกตัวไปคุยโทรศัพท์ข้างนอก เป็นต้น

            4.เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อันนี้ต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีบุคลิกไม่เหมือนกัน ความชอบไม่เหมือนกัน ความถนัดไม่เหมือนกัน อุปนิสัยที่ไม่เหมือนกัน ถูกฝึกมาไม่เหมือนกัน เจอสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ผ่านสิ่งต่าง ๆ ทั้งดีและไม่ดีไม่เหมือนกัน การเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ถือว่าสำคัญนะครับ เพราะเราจะได้รู้จักการพูดคุย การสนทนา การถาม-ตอบ การปฏิบัติตัว การเล่าเรื่องที่ตนเองสนใจ และเล่าเรื่องอย่างไรให้คนที่ฟังเข้าใจได้ดีที่สุด ยกตัวอย่างนะครับ ผมจะเป็นคนที่ชอบเพลงเก่า ดังนั้น ผมจึงต้องหาคนที่สามารถคุยกับผมเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าหาไม่ได้ แล้วอยากจะเล่า ควรอธิบายให้เขาเข้าใจ ว่าทำไมต้องเล่าเรื่องนี้ หรืออยากจะเล่าจริง ๆ เป็นต้น

            5.เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้รู้จักกิจวัตรประจำวัน สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำ อันนี้ขอให้เข้าใจนิดนึง เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้ แต่ยังไม่ทราบว่าวางตัวอย่างไรดี ปฏิบัติอย่างไรดี หรือทำอย่างไรให้ถูกต้อง เป็นต้น จริง ๆ เรื่องนี้ฝึกกันได้ครับ แต่ต้องมีเหตุผล และต้องอธิบายให้เข้าใจ ยกตัวอย่าง เวลาที่จะโทรศัพท์หาใคร ข้อแรกเลยว่ามีธุระสำคัญหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ไม่ต้องโทรดีกว่า ให้ส่งข้อความแทน ข้อที่สอง ต้องดูเวลาว่าเวลานี้ทำงานหรือไม่ หรือเป็นเวลาพักผ่อน ถ้าไม่ใช่เวลาดังกล่าว ให้โทรคุยได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อแรก แต่ถ้าเป็นเวลาดังกล่าว หากไม่ใช่เหตุฉุกเฉินจริง ๆ ก็ไม่ควรที่จะไปรบกวน ข้อที่สามคือการโทรคุยต้องมีธุระและมีความจำเป็นจริง ๆ หากไม่ใช่เรื่องแบบนั้น ค่อยมาเจอกันวันหลังก็ได้ ข้อที่สี่ หากโทร 2 รอบแล้วไม่รับ แสดงว่าเขาต้องการพักผ่อน หรือไม่ว่างในเวลานั้นครับ

            จริง ๆ ยังมีหลายข้อที่อยากจะพูดเลยครับ สรุปแล้ว บุคคลออทิสติกทุกคนจะต้องเรียนในเรื่องของทักษะทางสังคม เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข เรื่องนี้ไม่ใช่แค่จบเนื้อหาแล้วจบเลยไม่ใช่นะครับ ต้องค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ ปรับ และอธิบายให้เข้าใจ ว่าทำแบบนี้ไม่ถูกนะ แล้วไม่ถูกเพราะอะไรก็ต้องอธิบายให้เข้าใจ การอยู่กับบุคคลออทิสติก ในเรื่องของการอธิบายให้เข้าใจสำคัญมากนะครับ เพราะพวกเขาอาจจะยังไม่ทราบบริบทมากพอที่จะไปใช้ชีวิตในสังคม ทุกคนครับ ขอให้คิดว่าบุคคลออทิสติกสามารถพัฒนาได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา และใช้เหตุผล ผมขอให้ทุกคนช่วย ๆ ปรับบุคคลออทิสติกในเรื่องของการเข้าสังคมด้ยนะครับ หากตรงไหนไม่ถูก ฏ้ค่อย ๆ พูด แล้วบอกเหตุผลให้เข้าใจ และที่สำคัญคือต้องต่อเนื่อง สม่ำเสมอครับ สำหรับวันนี้ขอฝากไว้เพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่นะครับ สวัสดีครับ



อัษฎากรณ์ ขันตี

12 พฤศจิกายน 2565

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 3)