ค่ายเยาวชน ปี 2567
ค่ายเยาวชน ปี 2567
อัษฎากรณ์ ขันตี
หากจะพูดถึง “ค่ายเยาวชน” นั้น เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนได้ผ่านมาร่วมกับกิจกรรมนี้มาแล้ว แต่ว่าบริบทและกิจกรรมก็แตกต่างกันออกไป ตามสาขาหรือจุดประสงค์ที่ได้จัดค่าย อาทิ ค่ายลูกเสือ ค่ายวิชาการ ค่ายนันทนาการ เป็นต้น ในสมัยที่ยังเรียนในโรงเรียนแทบทุกคนก็มีประสบการณ์ในการจัดค่ายเยาวชน หรือไม่ก็เป็นผู้เข้าร่วม ซึ่งก็แตกต่างกันไปของแต่ละคน แต่ละบทบาท
สำหรับบุคคลออทิสติกและผู้ปกครองนั้น ด้วยความที่บุคคลออทิสติกมีข้อจำกัดบางอย่างหรือไม่ก็หลายอย่างในการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ไปเข้าค่าย หรือไม่ก็นั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับเพื่อน ๆ มากนัก ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางมูลนิธิออทิสติกไทยจึงจัด "ค่ายเยาวชนออทิสติกไทย" เข้าค่ายเยาวชนครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ทำให้ทุกคนได้กลับไปค่ายอีกครั้ง แล้วทำไมถึงต้องมีค่ายนี้ล่ะ เพราะการเข้าค่ายได้ฝึกฝนหลาย ๆ อย่าง อาทิ เป็นการฝึกการทำกิจกรรม การทำงานเป็นทีม การอยู่ร่วมกันในสังคม การมีเพื่อน การดำรงชีวิต และการเข้าค่ายยังมีโอกาสในการแสดงออกต่าง ๆ ทั้งการร้องเพลง การแสดง การเต้นรำ เป็นต้น ที่สำคัญ บุคคลออทิสติกได้ฝึกทักษะการพูด ทักษะการดำรงชีวิต ทักษะสังคม และทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ทีนี้จะขอเล่าว่า ทั้ง 3
วันผมได้ทำกิจกรรมอะไรบ้างครับ
วันที่
1 ช่วงเช้าผมก็เดินทางมากับรถบัส ซึ่งจะมีเพื่อน ๆ
จากกทม. และมูลนิธิออทิสติกไทยร่วมด้วย 2 คัน ล้อหมุน 6 โมงกว่า ๆ ก็มาถึงประมาณ แปดโมงกว่า
ๆ จากนั้น อ.ชูศักดิ์ จันทยานนท์ และ
อ.ปราโมทย์ ธรรมสโรช ได้พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับบุคคลออทิสติก ทั้งการเพิ่มสมาชิกในชมรม
เพิ่มบุคคลออทิสติกในการทำบัตรผู้พิการ เพิ่มบุคคลออทิสติกสู่การทำงาน
และการมีส่วนร่วมกับสังคม และ อ.ชูศักดิ์ก็ได้เปิดงานค่ายเยาวชน จากนั้น
ได้เจอวิทยากรในการทำกิจกรรม นั่นคือ อ.เอี่ยว ฉัตรพัฒน์ โตนิรันต์กฤติยา จากเกรท
เอ็ดดู-เทนเม้นท์ กิจกรรมในวันแรกผมได้รับผ้าพันคอ และป้ายชื่อว่าชื่ออะไร มาจากไหน
ซึ่งจะมีผ้าพันคอทั้งหมด 10 สี ผมได้สีเขียวอ่อนครับ
กิจกรรมช่วงเช้าผมได้ทำหน้ากากแฟนซี ซึ่งผมได้ทำเป็นรูปอินทรีแดง นั่นเอง
ตกบ่ายก็มีกิจกรรมอย่างคับคั่ง
ทั้งออกมาเต้น ออกมาโยก ทำมือ สนุกสนาน บ่ายนี้มีกิจกรรมมัน ๆ ทั้งสร้างหอคอยจากหลอด
ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าจะค่ายไหน ๆ ก็เจอใช่ไหมครับ ปัญหาเกมนี้คือจะทำอย่างไร
ให้หอคอยสูง ๆ โดยที่ไม่ล้มนั่นเอง และกิจกรรมวันนี้ที่สนุกไม่แพ้กัน คือ
หยิบลูกโป่ง ส่งต่อจากเพื่อนสู่เพื่อน ๆ กิจกรรมนี้สนุกมาก ๆ เปิดเพลงมัน ๆ
แล้วก็เอาลูกโป่งให้หัวแถว หัวแถวจะทำอย่างไรก็ได้ ให้ลูกโป่งแตก ซึ่งก็สร้างความตื่นเต้นได้ดีทีเดียว
กิจกรรมก็ยังมีที่น่าตื่นเต้น เช่น โยนห่วงลงเสาไม้เล็ก ๆ ส่งต่อทิชชู่ เป็นต้น
วันที่ 2 ตอนเช้านันทนาการก็จัดเต็ม
แต่ไฮไลท์อยู่ที่ การสร้างสะพานด้วยตะเกียบ ข้อจำกัดของเรื่องนี้
นอกจากจะเป็นเรื่องเวลาแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องของอุปกรณ์ ซึ่งให้มาก็มีจำกัด ไม่สามารถไปขอเพิ่มได้
เขามีให้แค่ไม้บรรทัด กรรไกร ตะเกียบ เชือก แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ให้สะพานมั่นคงขึ้น
กิจกรรมนี้สร้างความสามัคคีบวกกับความตื่นเต้นไม่น้อย แล้วที่ว่าตื่นเต้น คืออะไร
คือตอนที่ว่าสะพานนี้แข็งแรงไหม โดยทดสอบจากดินน้ำมัน และสิ่งของที่มี เช่น โทรศัพท์มือถือ
ตกบ่ายกิจกรรมก็จัดหนักจัดเต็ม
มีทั้งคิดชื่อกลุ่ม คำขวัญประจำกลุ่ม เพลงประจำกลุ่ม ผมอยู่สีเขียวอ่อน
มีคำขวัญว่า “สีเขียวสดใส สุขใจเมล่อน” เพลงประกอบมีชื่อว่า “เมล่อนลูกใหญ่ ๆ
แช่เอาไว้อยู่ในตู้เย็น สีอื่นก็ผ่านมาเห็น สีอื่นก็ผ่านมาเห็น
แอบเปิดตู้เย็นกินเมล่อนเลย” การซ้อมและการให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างคึกคักเลยทีเดียว
นอกจากนี้ บ่ายนี้มีกิจกรรมทั้งหมด 5 ฐาน สนุกสนานกันไป (ชื่อเกมเป็นชื่อที่ผู้เขียนเข้าใจ
ถ้าถูกหรือผิดก็ขออภัยด้วยนะครับ)
ฐานที่
1 คีบลูกบอล เกมนี้จะมีความยากอยู่ที่มีผู้เล่น 2 คนในทีม
แล้วแต่ละคนถือตะเกียบแค่ 1 ข้าง แต่สามารถจับตะเกียบของผู้เล่นร่วมได้
แต่ไม่สามารถจับบอลได้
ปัญหาคือทำอย่างไรให้สามารถคีบลูกบอลลงตะกร้าได้โดยที่ไม่ลงพื้น
ฐานที่
2 จับเชือกและเอาของในเชือกลงให้ตรงกับรูปภาพ เกมนี้ต้องเล่นเป็นทีม
และจับเชือกคนละข้าง ถ้าจับเชือกทุกคนก็เป็นการรัดของนั้น
แล้วปล่อยของจากเชือกให้ตรงกับรูปภาพ แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ
อย่านำของลงที่ช่องสี่เหลี่ยมที่มีระเบิดอยู่ ถ้าลงตรงนั้นถือว่าจมเกมทันที
และต้องใช้ความสามัคคีอย่างมากในการลำเลียงเชือกให้ของที่อยู่ในเชือกสามารถลงไปตามจุดที่ตรงกับรูปของนั้น
ๆ ได้
ฐานที่
3 เดินตามช่อง กิจกรรมนี้เหมือนกับทอยลูกเต๋า
แต่ต่างกันที่ไม่มีทอยลูกเต๋า และให้เดินตามช่องเท่านั้น ถ้าเหยียบระบิดถือว่าจบเกม
แต่ถ้าไม่เหยียบระเบิด ก็สามารถเดินเรื่อย ๆ ได้จนถึงเล้นชัย ความตื่นเต้นของเกมนี้คือไม่ทราบว่าเหยียบลงช่องแล้วจะมีระเบิดในช่องนั้นไหม
การฟังอย่างตั้งใจจึงจำเป็นมาก
ฐานที่
4 ต่อหอคอยโดยใช้แก้ว เกมนี้ถือว่าง่าย ๆ
ว่าจะทำอย่างไรให้ต่อหอคอยโดยใช้แก้ว แล้วต่อหอคอยเหมือนกับหอคอยที่พี่ได้ทำไว้
อันนี้ต้องอาศัยการสังเกต อาศัยความจำค่อนข้างเยอะ
ฐานที่
5 วาดภาพเหมือนตามแต่ละคน เกมนี้วาดภาพเก่งและวาดภาพเป็นไม่พอ
แต่คนข้างหน้าต้องเป็นคนที่ดูภาพ และวาดภาพให้เหมือนที่สุด คนต่อไปไม่สามารถดูรูปภาพได้
ต้องอาศัยคนที่วาดคนก่อน ๆ เอาตัวอย่างให้กับคนต่อ ๆ ไป
จากนั้นผมได้เขียนว่าทำกิจกรรมแล้วได้อะไรมาบ้าง
ตกเย็นหลังกินข้าวมีกิจกรรมการแสดง ร้องรำทำเพลง ซึ่งก่อนจะมีกิจกรรมนั้น
มีเกมให้เล่น 3 อย่างเพื่อแลกขนม คือพับจรวดจากกระดาษ เตะลูกบอล และกลิ้งม้วนเทปตรงกับจังหวัด
ต่อมา กิจกรรมร้องรำทำเพลง ซึ่งแต่ละจังหวัดจัดเต็มทั้งนั้นเลยครับ น้อง ๆ
ออทิสติกสามารถทั้งร้องเพลง เต้นกับเพื่อน ๆ ผู้ปกครองก็มีส่วนร่วมไม่แพ้กัน
กิจกรรมวันที่ 2 จึงจบเวลา 3 ทุ่ม
วันที่ 3 ตอนเช้าก็มีกิจกรรม 2 อย่าง
1) ถ่ายภาพตามสถานที่และท่าต่าง
ๆ กิจกรรมนี้ต้องอาศัยความร่วมมือ
และการมีส่วนร่วมอย่างยิ่ง ทั้งการทำท่าหลายเหลี่ยม การถ่ายทั้งสระน้ำ บึง ป้ายโรงแรม
หรือหน้าโรงแรม ผู้ปกครองต้องดูแลให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือตกน้ำ
และต้องคิดอีกอย่างว่าจะทำอย่างไรให้ถ่ายภาพแล้วสวยงาม
2) การทำลูกโป่งแฟนซี
กิจกรรมนี้นอกจากต้องอาศัยแรงในการเป่าลูกโป่งแล้ว
ความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน นอกจากเป่าลูกโป่งแล้ว
สิ่งที่คิดต่อคือจะทำอย่างไร ให้ออกมาสวยงาม และโดดเด่นมากขึ้น
ตอนบ่ายหลังทานข้าวแล้ว
ก็ได้เขียนเกี่ยวกับว่า กิจกรรมนี้ได้อะไรบ้าง และสุดท้าย ก็ได้เขียนว่า ทั้ง 3
วันเราได้อะไรบ้างจากการไปค่าย แล้วมีวีดีทัศน์เล่าเรื่องความประทับใจในกิจกรรม
จากนั้นทั้งพี่ยา แม่หมี พ่อศุภชัย ด.ต.ณัฐนนท์ ก็ได้กล่าเล็ก ๆ น้อย ๆ
เกี่ยวกับการทำกิจกรรม แล้วป้าวาสนากับแม่ก้องก็กล่าวปิดกอจกรรม กิจกรรมในวันนี้ก็ได้เสร็จสิ้นลงด้วยดี
ผมได้ออกจากชลพฤกษ์
รีสอร์ทเวลา 14.40 น. ระหว่างทางที่กลับ บางคนก็นั่งคุยกันชิล ๆ บางคนก็ฟังเพลง
บางคนก็นั่งหลับ บางคนก็ดูโทรศัพท์ คุยแชทกันยาว ๆ จ้า ผมถึงที่หอประมาณ 17.30 น.
ครับ แล้วก็สลบตามเคยจ้า ..
ได้อะไรมาบ้างจากกิจกรรมนี้
1.ได้ความสามัคคี ผมได้รู้จักความสามัคคีผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างสะพานจากหลอดตะเกียบ ซึ่งต้องระดมความคิดโดยที่มีโจทย์ปัญหา ว่าจะทำอย่างไรให้สะพานแข็งแรงที่สุด โดยที่ขั้นตอนทุกคนต่างต้องระดมสมอง ว่าจะจัดอย่างไร จะใช้อะไรยึด จะสร้างอย่างไรให้มั่นคง อีกกิจกรรมหนึ่งคือการทำลูกโป่งแฟนซี ซึ่งต้องระดมความคิดว่า จะจัดลูกโป่งให้มันหลากหลายได้อย่างไร จะออกแบบจัดทรงให้ลูกโป่งสวยงามได้อย่างไร
2.ได้เจอผู้คนที่หลากหลาย ผมได้รู้จักผ่านกิจกรรมแล้ว เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ บางครั้งยังมีโอกาสให้คุย และในช่วงเบรกกับพักนั้น ได้มีโอกาสในการคุย ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มาจากต่างจังหวัด ผู้ปกครองทั้งที่คุ้นเคย และไม่คุ้นเคย การเจอผู้คนทำให้ได้ฝึกการพูด ฝึกทักษะทางสังคม ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น
3.ได้รู้จักการรอคอย การที่ได้ออกมาทำกิจกรรมนั้น
สิ่งที่หนีไม่พ้นคือการเบรก และพักรับประทานอาหาร แน่นอนว่าเราต้องต่อคิว
เพื่อให้ได้กินข้าว หรือกินเบรกนั่นเอง เข้าใจว่าทุกคนหิว
แต่ทุกคนต้องมีความรู้จักในเรื่องของ “การรอคอย”
4.ฝึกการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม กิจกรรมในครั้งนี้ กลุ่มบุคคลออทิสติกถือว่าเป็นหลักในการทำกิจกรรม โดยที่ผู้ปกครองคอยอยู่ข้างหลัง ให้คำปรึกษา และดูแลอยู่ห่าง ๆ อย่างเช่น การทำลูกโป่งแฟนซีซึ่งเด็ก ๆ จะเป็นคนที่เป่า จากนั้นผู้ใหญ่จะช่วยในสิ่งที่เด็กทำไม่ได้ นั่นคือการมัด แล้วการจัดนั้นทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองระดมความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกดป่งนั้นมีความสวยงาม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเตะลูกบอล - ทำจรวดจากกระดาษ และกลิ้งลูกบอลให้ตรงตามภาพ ซึ่งทั้งสามกิจกรรมนี้เด็ก ๆ ถือเป็นหลักในการทำกิจกรรม โดยมีผู้ใหญ่อยู่ข้างหลัง นอกจากนี้ยังมีการแสดง แน่นอนว่าเด็กถือเป็นหลักในการทำกิจกรรมเช่นกัน
5.ฝึกการแสดงออก แน่นอนว่ากิจกรรมในครั้งนี้เด็กจะมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ในแต่ละกิจกรรมจะเห็นเด็ก ๆ ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ ทั้งการร้องรำทำเพลง ทั้งการนำเสนองาน ทั้งการพูดคุยกับผู้ใหญ่
6.ได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นผ่านการมีส่วนร่วมทางกิจกรรม เช่น การทำกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งครั้งก่อน ๆ ผู้ใหญ่จะเป็นคนทำ เด็กจะนั่งเฉย ๆ แต่คราวนี้เด็กถือเป็นหลักในการทำกิจกรรม โดยที่ผู้ใหญ่จะคอยช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง หรือไม่ก็ช่วยเหลือเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน
7.ได้เกิดประโยชน์สำคัญ ว่า “บุคคลออทิสติก คือพระเอกและนางเอกในใจของทุกคน มิใช่แค่พ่อแม่ หรือคนในครอบครัวเท่านั้น” คือหมายความว่า บุคคลออทิสติกนั้น สามารถพัฒนาได้ สามารถอยู่ในสังคมได้ สามารถทำกิจกรรมได้ เป็นที่รักของเพื่อน ๆ มิใช่แค่ในครอบครัว บุคคลออทิสติกจึงเปรียบเสมือน “พระเอก” และ “นางเอก” ในใจของคนในสังคมครับ
ในหนังสือ Designing
Your Life กล่าวไว้ว่า
"อัจฉริยภาพที่แท้จริงอยู่ในกระบวนการทำงานร่วมกัน
เราออกแบบชีวิตโดยร่วมมือและสานสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะคำว่า "เรา"
แข็งแกร่งกว่า "ฉัน" เสมอ เรื่องง่าย ๆ ก็แค่นี้เอง"
การทำงานเป็นทีมอย่างน้อยก็ได้เพื่อน ได้พูดคุย ได้ปรับสารทุกข์สุขดิบ นี่คือประโยชน์ของคำว่า "ทีมเวิร์ค" ที่แท้จริงครับ เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับการไปเข้าค่ายในครั้งนี้ สนุกใช่ไหมครับ สนุกแล้วยังได้สิ่งต่าง ๆ มากมาย อาทิ การมีส่วนร่วม การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น การฝึกทักษะทางสังคม เป็นต้น ผู้ปกครองและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคนครับ อย่าให้บุคคลออทิสติกอยู่แต่ในห้อง ควรหากิจกรรมให้ทำ และให้พวกเขาออกไปสู่โลกกว้างบ้าง อย่างน้อย เด็ก ๆ ก็จะเข้าใจถึงทักษะสังคม ทักษะการพูด ทักษะการดำรงชีวิต ขอฝากทุก ๆ คนมาในโอกาสนี้ ผมเชื่อว่า บุคคลออทิสติก สามารถพัฒนาได้ สามารถทำงานได้ และสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ขอแค่รัก เข้าใจ ให้โอกาส ทุกอย่างจะเป็นไปได้เสมอ สำหรับวันนี้ ผมต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ
(ขอบคุณรูปภาพจากเฟซบุ๊ก Autistic Thai Foundation มูลนิธิออทิสติกไทย ณ โอกาสนี้ หากข้อความไหนผิดพลาดตรงไหนก็ขออภัยเป็นอย่างยิ่งนะครับ)
อัษฎากรณ์ ขันตี
6 มิถุนายน 2567
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น