ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 1)


 

            ถ้าพูดถึงอาชีพ "ครู" เป็นอาชีพหนึ่ง ที่มีหน้าที่ในการสอนหนังสือแก่นักเรียน "ครู" ไม่ใช่แค่สอนหนังสือนักเรียนเท่านั้น ครูยังต้องมีหน้างที่ในการดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนในทุกมิติ ครูก็คือพ่อแม่คนที่สอง ที่สร้างคนให้เป็นคน ทุกคนในชีวิตนั้น กว่าจะมีวันนี้ได้ก็ต้องผ่านมือครูแทบทั้งสิ้น การที่จะเป็นครูนั้น ไม่ใช่แค่สอนหนังสือแล้วก็จบไป แต่ยังต้องดูแล นิเทส ติดตามนักเรียนทุก ๆ คน อีกทั้งต้องร่วมมือกับบุคคลภายนอกเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการสอนนักเรียนให้ดีมากขึ้น ผมมองว่า อนาคตของเด็ก ๆ แทบทุกคน ถ้าได้ครูดีเด็กก็จะอยากเรียน และเด็กก็จะจดจำไปตลอด อีกทั้งการที่เด็กจะอยู่โรงเรียนได้มีความสุขหรือไม่นั้น "ครู" คือคนสำคัญในโรงเรียน แต่เท่าที่ทราบนะครับ ครูนอกจากจะต้องทำการสอนแล้ว ก็จะมีหน้าที่อื่น ๆ เช่น สอนพิเศษ งานเอกสาร สื่อ ช่วยงานธุรการ งานครัว งานราชการ รายงานต่าง ๆ ทำให้ครูไม่ค่อยมีโอกาสที่จะใกล้ชิดกับเด็กเท่าที่ควร อีกทั้งปัญหาการถูกรังแก เรียนไม่ทัน ไม่มีเพื่อน และต้องแข่งขันกันเรียน ทำให้เด็ก ๆ ไม่มีความสุขในการเรียน ทั้งเสี่ยงที่จะมีปัญหาซึมเศร้า ไปจนถึงการไม่อยากมาโรงเรียนเลยทีเดียว

        "บุคคลออทิสติก" คือบุคคล ๆ หนึ่ง ที่มีความผิดปกติของโครงสร้างและสารเคมีบางอย่างในสมอง บุคคลออทิสติก จะมีปัญหาในเรื่องของการพูด การสื่อสาร การเรียนรู้ พฤติกรรม และการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม คำว่าออทิสติกนั้น มาจากภาษากรีก (Auto) ที่แปลว่า ตนเอง สิ่งที่เห็นได้ชัดของบุคคลออทิสติกนั่นคือ ชอบอยู่ในโลกของตนเอง ไม่สบตา ไม่มองหน้า ทำอะไรซ้ำ ๆ พูดกุก ๆ กัก ๆ มักจะพูดแต่ในเรื่องที่สนใจ หมกหมุ่นกับสิ่งที่สนใจได้นาน ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ยืดหยุ่นไม่เป็น(หรือได้แต่น้อย) มักจะเข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ วางตัวไม่ถูก ทำอะไรรุ่มร่ามโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ มักจะมีอารมณ์ถ้าเจอการเปลี่ยนแปลงไปจากกิจวัตรของเขาเอง คบคนต่างวัย หรือไม่คบใครเลย เป็นต้น

        บทความนี้จะเล่าว่าครูสามารถช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร ทำไมถึงต้องเขียนบทความนี้ด้วยล่ะครับ คำตอบคือ เพื่อครูเข้าใจวิธีการสอนกับบุคคลออทิสติก บริบทของบุคคลออทิสติก และแนะนำหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์บุคคลออทิสติกนั่นเอง ในบทความนี้ ผมจะพูดตั้งแต่บทบาทผู้บริหารในการช่วยเหลือบุคคลออทิสติก ครูในการดูแลบุคคลออทิสติก ทั้งกลุ่มระดับอาการรุนแรงมาก รุนแรงปานกลาง และรุนแรงน้อย และการช่วยเหลือบุคคลออทิสติกในแต่ละวิชา ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เอาจริง ๆ นะครับ ครอบครัวคือคนที่สำคัญที่สุดของบุคคลออทิสติก แต่ว่าจะปล่อยให้บุคคลออทิสติกอยู่แต่ในครอบครัวอย่างเดียวหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ เพราะบุคคลออทิสติกก็ไม่ต่างจากคนในสังคม ที่ต้องเจอทั้งคนในสังคมที่ร้อยพ่อพันแม่ ต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากมาย ต้องเจอกับเพื่อน พี่ น้อง และคนต่างนิสัยที่ไม่เหมือนกัน แต่การที่จะอยู่ได้นั้น ต้องมีทักษะทางสังคมที่ดี (อ่านได้ที่ http://ausautis.blogspot.com/2022/11/blog-post.html ) ซึ่งบุคคลออทิสติกยังขาดตรงนี้ นอกจากครอบครัวจะช่วยสอนแล้ว ครูและบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องมีบทบาทในการดูแลบุคคลออทิสติกเรื่องของทักษะสังคมต่อไปในอนาคตครับ 

        แต่ทว่า ครูกับบุคคลออทิสติก มักจะเข้ากันได้ไม่ค่อยดีนัก สาเหตุที่ครูมักจะเมินบุคคลออทิสติกนั้น ผมจะบอกเหตุผลคร่าว ๆ ได้ดังนี้ 

           1.หลักสูตรไม่ได้เอื้ออำนวยกับบุคคลออทิสติกเท่าไรนัก หลักสูตรที่ใช้ในแต่ละโรงเรียนนั้น เท่าที่ผู้เขียนได้ทราบมา มีการเรียนแบบเลคเชอร์ ท่องจำ เตรียมนำไปสอบ และแข่งขันกัน แต่ขาดการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนรู้จักถึงบริบทของบุคคลออทิสติก,คนพิการ,คนที่มีความหลากหลาย,คนกลุ่มอื่น ๆ และขาดการสอนทักษะทางสังคม ทำให้บุคคลออทิสติกไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพเท่าที่ควร อีกทั้งยังขาดทักษะที่จำเป็น อาทิ ทักษะสังคม ทักษะการอยู่ร่วมกัน ทักษะการพูด การจัดการอารมณ์ ทำให้บุคคลออทิสติกมีปัญหาในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ไม่สามารถทำงานกับคนอื่นได้ และมีอารมณ์-พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ออกมา ทำให้คนในสังคมเกิดความอคติกับบุคคลออทิสติกมากขึ้น โดยที่บุคคลออทิสติกไม่ได้ตั้งใจทำแบบนั้นก็ตาม

           2.ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในเรื่องของบุคคลออทิสติก อันนี้บางท่านก็พอทราบนะครับ ว่าในบ้านเรายังขาดแคลนผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของบุคคลออทิสติก ทั้งการสอน การดูแล การรักษา การเป็นพี่เลี้ยง และการพัฒนาศักยภาพ อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลก็ไม่ได้แพร่หลายเท่าที่ควร มักจะพูดกันแต่ในวงแคบ ๆ เท่านั้น ทำให้คนเข้าไม่ถึงเกี่ยวกับข้อมูลของบุคคลออทิสติกเท่าที่ควร นอกจากนั้น โรงเรียนส่วนใหญ่ยังขาดความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ครูการศึกษาพิเศษ องค์กรคนพิการ กลุ่มผู้ปกครองบุคคลออทิสติก และบุคคลออทิสติก(กลุ่มที่ประสบความสำเร็จ มีงานทำแล้ว) เข้ามาดูแลและให้ข้อมูล ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของบุคคลออทิสติก และไม่สามารถดูแลบุคคลออทิสติกได้เต็มที่นั่นเอง

           3.กฎหมายไม่ได้มีบทลงโทษที่ตายตัว ในตัวกฎหมายทั้ง พรบ.การศึกษา และ พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้น ไม่ได้มีบทลงโทษที่ตายตัว ทำให้โรงเรียนเลือกที่จะรับหรือไม่รับก็ได้ โรงเรียนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่รับ บ้างก็บอกว่า ไม่มีครู ไม่มีงบ เป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว บุคคลออทิสติกจึงหลุดจากระบบการศึกษาไปเรื่อย ๆ จนต้องเป็นภาระของครอบครัวไปตลอดชีวิต หลายครอบครัวต้องฝากเด็กไปที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ หลายครอบครัวต้องไปฝากที่ กศน. หลายครอบครัวแทบจะปิดเงียบเลยทีเดียว และหลายครอบครัวไม่มีโอกาสที่จะเรียนต่อเลยล่ะครับ

           4.ขาดความเข้าใจ และการคลุกคลีกับบุคคลออทิสติก การที่จะอยู่กับบุคคลออทิสติกได้นั้น สำคัญคือความเข้าใจ และการคลุกคลีกันกับบุคคลออทิสติกให้มากที่สุด แต่ปัญหาพบว่า ครูส่วนใหญ่มักจะเมินกับบุคคลออทิสติก มีเหตุผลหลัก ๆ คือการขาดความเข้าใจในตัวเด็กออทิสติก ซึ่งไม่ทราบว่าเด็กคนนี้เป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง สามารถสื่อสารได้หรือไม่ ชอบวิชาไหนที่สุด ความสามารถคืออะไร เข้ากับเพื่อนได้หรือไม่ ต้องกินยาอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า ทำให้ครูไม่สามารถที่จะสอนเด็กออทิสติกได้ดีเท่าที่ควร อีกทั้งภาระของครูต้องทำหลาย ๆ อย่าง อาทิ สื่อการสอน งานเอกสาร งานภารโรง เวร สอนพิเศษ ค่าใช้จ่าย ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้เด็กออทิสติกไม่ได้รับการดูแลที่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังเกิดความไม่สบายใจ ทั้งตัวเด็ก และครอบครัว และทำให้เด็กไม่ได้มีโอกาสในการศึกษาต่อก็เป็นได้ 

           5.ผู้บริหารให้ความสำคัญกับการแข่งขัน มากกว่าช่วยเหลือเด็กพิเศษ เมื่อบริบททางสังคมเน้นการแข่งขันมากกว่าดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติกนั้น ทำให้ครอบครัวของบุคคลออทิสติกเกิดความเคลือบแคลงใจว่าโรงเรียนนั้น ๆ จะสามารถดูแลบุคคลออทิสติกได้หรือไม่ และทัศนคติของผู้บริหารมักจะเน้นแข่งขันเชิงวิชาการ มากกว่าจะพัฒนาระบบในการดูแลบุคคลออทิสติก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับบุคคลออทิสติกจึงเกิดความห่างเหิน นำไปสู่การไม่อยากมาโรงเรียนของเด็กออทิสติกเลยก็เป็นได้ และการที่โรงเรียนแข่งขันกันชิงดี-ชิงเด่นแบบนี้ ทำให้บุคคลออทิสติกแทบจะไม่มีโอกาสในการเรียนรู้สังคม เรียนรู้การอยู่กับครู อยู่กับเพื่อน ๆ และนำไปสู่ปัญหาที่เรื้อรังต่อเนื่องเมื่อเด็กออทิสติกเติบโตขึ้นนั่นเอง

           6.ทัศนคติ / ความคาดหวังของคนในสังคม ผมก็เข้าใจทัศนคติ / และความคาดหวังทั้งครอบครัว และคนในสังคมนะครับ ว่าใคร ๆ ก็อยากให้โรงเรียนเด่น อยากให้ลูกหลานแข่งขันและได้รางวัล อยากให้ลูกสอบได้ที่ 1 ที่ 2 อยากให้เด็กเรียนเก่ง ๆ อยากให้เด็กสอบติดโรงเรียนดี ๆ มหาวิทยาลัยดัง แต่ในความคาดหวังนี้ ทำให้เป็นการปิดโอกาสในการเรียนของบุคคลออทิสติกไปโดยที่ไม่ค่อยมีใครทราบ และทำให้บุคคลออทิสติกไม่มีโอกาสในการเรียนรู้ทักษะสังคม การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การทำงานเป็นทีม การเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น และการเข้าใจบริบทของแต่ละคนนั่นเอง ถ้าหลาย ๆ คนไม่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของบุคคลออทิสติกก็จะคาราคาซังต่อไป ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องให้หลาย ๆ ฝ่ายมาคุยกันนั่นเองครับ

        จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ผมต้องออกมาเขียนเรื่องราวว่า ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร ในตอนที่ 1 จะเล่าถึงที่มา และสาเหตุที่ครูมักจะเมินบุคคลออทิสติก จะไม่ได้ลงลึกในเนื่อหามากนัก ตอนที่ 2 ก็จะเล่าถึงบทบาทครู (ที่เป็นผู้บริหาร) และครูการศึกษาพิเศษ ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถดูแล และช่วยเหลือบุคคลออทิสติกให้พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพได้ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สำหรับวันนี้ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกับตอนที่ 2 ในสัปดาห์หน้านะครับ สวัสดีครับ 








อัษฎากรณ์ ขันตี 
17 กุมภาพันธ์ 2566



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 3)

ทักษะทางสังคมสำหรับบุคคลออทิสติก