วิเคราะห์ปัญหาการเข้าสังคมของบุคคลออทิสติก

 


วิเคราะห์ปัญหาการเข้าสังคมของบุคคลออทิสติก

ในปัญหาที่บุคคลออทิสติกต้องเจอนั่นคือ การเข้าสังคม

การเข้าสังคมของบุคคลออทิสติกนั้น ผมเชื่อว่าบุคคลออทิสติกหลาย ๆ คนพยายามที่จะเข้าสังคมให้ได้เหมือนคนทั่ว ๆ ไป แต่ปัญหาติดที่ว่า ไม่รู้จะเข้าหาอย่างไรดี ไม่รู้ว่าจะคุยเรื่องอะไร ไม่รู้ว่าจะทำตัวหรือวางตัวอย่างไร และ..ขาดความเข้าใจกัน ทำให้เกิดปัญหา คือความน้อยเนื้อต่ำใจ พฤติกรรมทางอารมณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ความห่างเหินในหมู่เพื่อน จนถึงขั้นถูกรังแกและภาวะซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน/ทำงานเลยทีเดียว 

เท่าที่ผมวิเคราะห์ได้ สาเหตุที่บุคคลออทิสติกมีปัญหาการเข้าสังคมมีทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้

1.คนในสังคมขาดความเข้าใจบริบทของบุคคลออทิสติก เรื่องนี้คนในบ้านเราต้องยอมรับจริง ๆ ว่ายังขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในบ้านเรามีน้อยและขาดแคลน ทำให้การเข้าถึงองค์ความรู้ด้านบุคคลออทิสติกยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร คนในสังคมจึงไม่ทราบว่าบุคคลออทิสติกคืออะไร มีอาการอะไร และสามารถดูแลพวกเขาได้อย่างไร ทำให้ความห่างเหินและหมางเมินจึงเกิดขึ้น เนื่องจากว่าคนส่วนใหญ่ขาดความรู้ จึงเลือกที่จะเมิน เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นครอบครัวของบุคคลออทิสติกจะเดือดร้อน การเข้าสังคมและเข้าใจกันจึงเป็นไปได้ยาก

2.ขาดคนที่จะคอยเป็นล่ามให้กับบุคคลออทิสติก เนื่องจากว่าคนที่สนใจเรื่องนี้จริง ๆ มีน้อยและขาดแคลน ทำให้การเข้าสังคมเป็นไปได้อย่างยากลำบาก นอกจากว่าครอบครัวจะต้องคุยให้ ถ้าครอบครัวไม่ยอมรับนี่เป็นอะไรที่ลำบากจริง ๆ ในการเข้าสู่สังคมนั่นเอง อันนี้ต้องอย่าลืมว่าบุคคลออทิสติกจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร จึงไม่สามารถที่จะไปคุยกับคนในสังคมแบบราบรื่นเท่าไรนัก

3.ขาดการบูรณาการกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อนี่คือปัญหาสำคัญ นั่งคือการบูรณาการกับคนที่เกี่ยวข้อง ครอบครัวมักจะคิดว่า ยังไงสังคมเขาไม่สนเรา และกลัวที่จะถูกรังแก ทำให้ไม่สามารถบูรณาการกับคนที่เกี่ยวข้องได้ ส่งผลให้การเข้าสังคมเป็นไปได้อย่างยากลำบาก การบูรณาการในที่นี่จะต้องบูรณาการรร่วมกันทั้งครู ผู้ปกครอง เพื่อน-พี่-น้อง ท้องถิ่น แพทย์ นักจิตวิทยา ครูการศึกษาพิเศษ ตัวแทนบุคคลออทิสติก (ที่มีงานทำแล้ว อยู่ในระดับ Tier 1) และคนอื่น ๆ ในสังคม จะต้องบูรณาการร่วมกันครับ จึงจะพาบุคคลออทิสติกเข้าสังคมได้

4.ขาดกิจกรรมและการมีส่วนร่วมของบุคคลออทิสติก เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง การขาดกิจกรรมและการมีส่วนร่วมนั้น ผู้จัดกิจกรรมเขาก็ไม่ค่อยอยากให้บุคคลออทิสติกเข้าไปมีส่วนร่วม บ้างก็บอกว่า กลัวจะเกิดอารมณ์ขึ้น บ้างก็บอกว่า จะโดนรังแก บ้างก็บอกว่า ยุ่งทำไม ไปเลี้ยงเองสิ และกลัวว่าครอบครัวจะเดือดร้อน จึงเลือกที่จะไม่ให้บุคคลออทิสติกมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมดีกว่า 

5.ขาดการฝึกทักษะสังคมสำหรับบุคคลออทิสติกและคนอื่น ๆ ในสังคม บ้านเรายังไม่มีหลักสูตรเรื่องนี้และไม่ได้สอนอย่างแพร่หลาย ทำให้บุคคลออทิสติกขาดการฝึกทักษะทางสังคม ทั้งเรื่องของการทักทาย การพูด การวางตัว การคุยโทรศัพท์ การอยู่ในที่สาธารณะ เป็นต้น ทำให้บุคคลออทิสติกเข้าสังคมกับผู้อื่นได้ไม่มากเท่าที่ควร 

6.ความเชื่อที่คิดกันผิด ๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาคลาสสิคเลยทีเดียว ว่า "เป็นแบบนี้แล้วจะทำอะไรได้" ,"ไอนี่มันตัวตลก ตัวปัญหา" ,"ทำอะไรรุ่มร่ามแบบนี้ใครก็ไม่เอาหรอก" จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ปรับกันได้ แต่ต้องเข้าใจ อดทน ให้โอกาส เรื่อทักษะสังคมและการอยู่ร่วมกันน่ะฝึกได้ครับ แต่ต้องใช้เวลา 

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผมมีเรื่องที่อยากจะฝากไว้ ว่าขอให้ช่วย ๆ กันดูแลบุคคลออทิสติกให้สามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ทำไมต้องทำแบบนั้น แล้วถ้าถามว่า "ให้ดูแลตนเอง ช่วยเหลือตนเอง จะให้คนอื่นดูแลทำไม"  ผมก็ตอบว่า ทุกคนต้องช่วยเหลือตนเองอยู่แล้ว แม้ว่าเป็นออทิสติก อะไรที่ทำเองได้ทำเลยครับ เช่น งานบ้าน งานกวาด เช็ด ถู ไปถึงเดินทางเอง และความสามารถพิเศษของแต่ละคน , ส่วนเรื่องการดูแลไม่มีใครไม่อยากให้คนดูแลหรอก จริงไหม แต่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษไม่ใช่เรื่องอภิสิทธิ์ หรือความสงสาร แต่ที่ต้องการให้ดูแลเพื่อให้บุคคลออทิสติกได้มีเพื่อน ได้มีมิตร ได้มีโอกาสพูดคุย ได้ฝึกเรื่องของทักษะสังคม ได้มีคนแนะนำเวลาที่ปรับตัวไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก วางตัวไม่ถูก ได้เป็นกระจกเมื่อสิ่งไหนที่ดีขึ้น สิ่งไหนที่ต้องปรับปรุง ได้มีคนรับฟังเวลาที่ไม่สบายใจ ได้ออกมาทำกิจกรรมและมีส่วนร่วม ได้มิตรภาพ และที่สำคัญ...ครอบครัวจะได้ไม่ต้องเป็นหว่างเวลาที่แก่ตัวลงหรือไม่มีคนดูแลแล้วครับ 

เรื่องนี้อยากฝากให้ทุก ๆ คนไปพิจารณา และช่วยกันผลักดันบุคคลออทิสติกให้สามารถก้าวสู่สังคมได้อย่างสง่างามเถิดครับ การพูดครั้งนี้ ถือว่าผมพูดแทนหลาย ๆ คนไปเป็นที่เรียบร้อนแล้ว ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ขอโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้อยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และก้าวไปสู่สังคมได้อย่างมีความสุข ขอบคุณครับ




อัษฎากรณ์ ขันตี 

17 พฤษภาคม 2566

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 3)

ทักษะทางสังคมสำหรับบุคคลออทิสติก