สิ่งที่อยากเห็นเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกและเด็กพิเศษในปี 2566-2570 (ตอนจบ)

 


            จากตอนที่แล้วนะครับ ได้เล่าถึงสิ่งที่อยากเห็นเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกและเด็กพิเศษในรอบปี 2566-2570 มาได้ 4 หัวข้อใหญ่ ๆ แล้ว ทีนี้ก็จะเหลือ 3 หัวข้อหลัก ๆ ในการเล่าถึงสิ่งที่ผมอยากให้เจอเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกหลังจากนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีเวลาเรียนรู้ ปรับตัว และเปิดโอกาสให้พื้นที่แก่บุคคลออทิสติกครับ 

            ในตอนนี้ผมจะเหลืออยู่ 3 หัวข้อสำคัญ ๆ ที่ผมจะต้องเริ่มที่จะพูดถึงอย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วครับ เพราะสังคมต้องยอมรับอย่างจริง ๆ จัง ๆ หมดยุคที่จะคิดว่า ที่ลูกของคุณเป็นออทิสติกเป็นเรื่องของเวรกรรม บุคคลออทิสติกอยู่ในสังคมไม่ได้หรอก บุคคลออทิสติกพัฒนาไม่ได้หรอก บุคคลออทิสติกใช้ชีวิตเหมือนคนปกติไม่ได้หรอก ขอเถอะครับ ปรับความคิด และขอให้มองว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นบุคคลออทิสติกก็สามารถพัฒนาได้ สามารถอยู่ในสังคมได้ สามารถดำรงชีวิตได้ดังคนปกติ เพียงแค่คนปกติต้องช่วยกันดูแลบุคคลออทิสติกให้ดีที่สุดครับ ทีนี้ผมจะเล่าถึงสิ่งที่อยากเห็นเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกและเด็กพิเศษในรอบปี 2566-2570 มาให้ฟังกันนะครับ จะมีอะไรบ้างติดตามได้เลยครับ




              5.ควรจะมีการตั้งคำถาม และเปิดอภิปรายในเรื่องของบุคคลออทิสติกในที่สาธารณะ อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าบุคคลออทิสติกเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ค่อยมีใครกล้าตั้งคำถาม เพราะคนในสังคมมักจะมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีมากนัก อีกทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีลูกหลานเป็นออทิสติกหลาย ๆ คนก็ไม่กล้าที่จะออกตัว ทำให้กลุ่มบุคคลออทิสติกมักจะเป็นเรื่องชายขอบที่ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก อีกทั้งบ้านเราก็ไม่ค่อยมีใครพูดถึงบุคคลออทิสติกในที่สาธารณะ ผมจึงคิดว่าการตั้งคำถามกับการอภิปรายนี่แหละครับ ที่ทำให้คนสนใจเรื่องของบุคคลออทิสติกกันมากขึ้น อันนี้ผมจะบอกว่า ทำไมบ้านเราถึงต้องมีการตั้งคำถามและมีการอภิปรายเรื่องของบุคคลออทิสติกในที่สาธารณะบ้างเอ่ย

            1) เพื่อให้สังคมร่วมกันพูดคุย และหาวิธีในการพัฒนาบุคคลออทิสติกมากขึ้น การตั้งคำถามและการอภิปรายในเรื่องของบุคคลออทิสติกนั้น ทำให้สังคมเกิดความสงสัย และเริ่มที่จะคิดว่า ทำไมบุคคลออทิสติกถึงมองโลกแบบนี้ ทำไมบุคคลออทิสติกถึงอยู่ในสังคมได้ยาก และเมื่อคำถามนี้เกิดขึ้น สังคมก็เริ่มที่จะหาคำตอบ การหาคำตอบผ่านทางอินเทอร์เน็ตอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก แต่การพูดคุยเพื่อหาวิธี นอกจากจะได้คำตอบแล้ว ยังมีโอกาสที่จะปรึกษาหารือ ว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขาได้มีที่ยืนในสังคม แม้ว่าอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ อย่างน้อยก็จุดประกายให้หลาย ๆ คนสนใจในเรื่องนี้ได้แล้วครับ 

            2) เพื่อให้สังคมเห็นความสำคัญของบุคคลออทิสติกมากขึ้น การตั้งคำถามและการอภิปรายในเรื่องของบุคคลออทิสติกนั้น ทำให้สังคมได้รู้จักตัวตน และเป็นการกระตุ้นว่าสังคมควรจะดูแลพวกเขานะ ควรจะเข้าใจ และต้องปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งนะ การตั้งคำถามเป็นการให้สังคมเห็นความสำคัญว่า เรากล้าแสดงออกนะ เราก็เป็นคน ๆ หนึ่ง ที่มีปากมีเสียง และต้องการมีพื้นที่ในสังคม

            3) เพื่อให้สังคมเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้แสดงออกตามความสามารถของแต่ละคนมากขึ้น การตั้งคำถามและการอภิปรายนั้น นอกจากจะกระตุ้นหาความสงสัยแล้ว ยังเปิโโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้แสดงออก ได้ร่วมวงในการพูดคุยกับบุคคลปกติมากขึ้น และทำให้บุคคลออทิสติกได้รับความคิดที่หลากหลายจากคนในสังคมที่มากขึ้น ดีไม่ดีอาจจะได้เพื่อนใหม่และมิตรภาพที่ดีด้วยนะครับผม 

            4) เพื่อให้สังคมได้ทราบถึงบริบทบุคคลออทิสติก และเข้าใจบุคคลออทิสติกมากขึ้น การเสวนาและการตั้งคำถามทำให้บุคคลออทิสติกได้มีพื้นที่ในการที่คนในสังคมมีความสงสัย และเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้สังคมต้องพิจารณาเรื่องนี้ การพูดถึงบ่อย ๆ ทำให้สังคมได้ทราบถึงบุคคลออทิสติกมากขึ้น ถ้าวันไหนที่สังคมมีความกระหายในเรื่องนี้มากพอ ก็จะค่อย ๆ เข้าใจ และสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันกับบุคคลออทิสติกได้อย่างแน่นอน

            5) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สังคมมีพื้นที่ให้กับบุคคลออทิสติกมากขึ้น สังคมบ้านเราหากไม่มีใครพูดถึงก็จะทำให้เงียบไปในทันที การเปิดประเด็น เสวนา ตั้งคำถาม ทำให้คนในสังคมได้มีพื้นที่ให้กับบุคคลออทิสติกมากขึ้น ได้ทราบถึงความรู้ ความสามาถของบุคคลออทิสติก และเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้พัฒนาศักยภาพตามความสามารถของแต่ละคนได้ดีขึ้นนั่นเอง
                




                6.บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพูดคุย เพื่อหาวิธีในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลออทิสติก ทำไมถึงต้องทำแบบนี้หนอ.. ทำไมถึงไม่ให้ครอบครัวจะดการกันเองล่ะ คำตอบคือ การที่บุคคลจะอยู่ในสังคมได้นั้น ก็ต้องมีคนในสังคมมาดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุน จะมาพึ่งที่ครอบครัวอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากไม่มีครอบครัว จะทำไงล่ะ คำตอบคือ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม แม้อาจจะช่วยไม่ได้มากก็ตาม ข้อนี้ผมจะอธิบายว่า ทำไมถึงต้องให้คนที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ ฝ่ายพูดคุยกันในเรื่องของบุคคลออทิสติกล่ะ

            1) เพื่อหาวิธีในการพัฒนาศักยภาพของบุคคลออทิสติก ทำไมถึงต้องทำแบบนั้น คำตอบคือ การที่มีคนมาพูดคุยกันหลาย ๆ คน ทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการพัฒนาศักยภาพ ทั้งการพูด พฤติกรรม การแสดงออก การเข้าสังคม ความสามารถ เป็นต้น การหาวิธีในการพัฒนาศักยภาพนั้น ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้พัฒนาศักยภาพอย่างไร้ขีดจำกัด และมีพื้นที่ในสังคมได้อย่างสง่างามนั่นเอง

            2) เพื่อหาวิธีในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข การที่เปิดโอกาสมาพูดคุย นั่นก็แปลว่า บุคคลออทิสติกเริ่มจะเป็นที่พูดถึงมากขึ้นแล้วนะครับ การที่ให้หลาย ๆ ฝ่ายมาพูดคุยเพื่อหาวิธีในการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น มิใช่แค่คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการจุดประกายให้บุคคลออทิสติกสามารถอยู่ในสังคมได้ อย่างมั่นคงและมีความสุข 

            3) เพื่อหาวิธีในการดำรงชีวิต ในวันที่ผู้ปกครองไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว การระดมความคิดเห็นของแต่ละคนนั้น ทำให้เกิดการวางแผนให้บุคคลออทิสติกได้รับการดูแลที่ดีจากสังคม ถึงแม้ว่าพ่อแม่หรือครอบครัวจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้วก็ตาม การระดมความคิดถึงในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว

            4) เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนสังคม ให้มาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น  การพูดคุยกันนั้น ยิ่งถี่มากขึ้นเท่าไร คนในสังคมก็เริ่มมีความสงสัย เมื่อเกิดความสงสัยแล้ว สังคมก็เริ่มที่จะสนใจเรื่องของบุคคลออทิสติกได้เอง การขับเคลื่อนให้สังคมหันมาสนใจเรื่องนี้ได้ ต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ




           7.ร่วมมือกับครอบครัว วางแผนในเรื่องของการดำรงชีวิตอิสระ และการดำรงชีวิตในกรณีที่ไม่มีคนในครอบครัวดูแลแล้ว เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ นะครับ แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงสักเท่าไร ดังนั้นการวางแผนในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญนะครับ หากบุคคลออทิสติกอยู่ในระดับช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลยถึงได้บ้าง แทบจะต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแล และต้องประกบตลอดเวลา ถ้าพ่อแม่ไม่อยู้แล้ว จะทำยังไงล่ะ แล้วถ้าอยู่ในกลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองพอได้ หรือกลุ่มที่ใกล้เคียงกับคนปกติ จริงอยู่ที่หลาย ๆ อย่างสามารถทำได้เหมือนคนปกติ แต่หลาย ๆ ครั้งเขาต้องการเพื่อน ต้องการคนที่จะดูแล แล้วจะทำอย่างไรล่ะ อันนี้เป็นการเสนอความคิดเห็นใน 2 กรณีนะครับ 

        1) กรณีที่เป็นบุคคลออทิสติกที่สามารถช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลยหรือได้เล็กน้อย อันนี้ผมว่าจะต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแล 24 ชั่วโมง และสถานที่ ๆ อยู่อาศัยควรจะเป็นบ้าน ซึ่งทุก ๆ วันจะต้องมีพี่เลี้ยงมาสลับหมุนเวียนดูแล ตอนกลางวันจะมีกิจกรรมพวกการพูด การปรับพฤติกรรม การช่วยเหลือตนเองเบื้องต้น การออกกำลังกาย เสริมทักษะวิชาการ เสริมงานอาชีพ ส่วนกลางคืนก็จะมีคนคอยดูแล และติดตามอย่างใกล้ชิด หากติดขัดตรงไหนก็ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

        2) กรณีที่เป็นบุคคลออทิสติกที่พอช่วยเหลือตนเองได้ และช่วยเหลือตนเองได้ อาจจะไม่ต้องอยู่บ้านก็ได้ จะอยู่แบบคอนโดหรือทาวน์เฮาส์ก็ได้ อันนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดหาพี่เลี้ยงก็ได้ แต่ต้องมีการดูแลอย่างทั่วถึง การดูแลในกลุ่มนี้อาจจะพูดคุยถึงปัญหาที่พบเจอ การดำรงชีวิต การเข้าสังคม อารมณ์ ถ้าหากติดขัดตรงไหนจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลยทันที และจะมีกิจกรรม อาทิ ศิลปะ การเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม การออกไปท่องเที่ยว การพูด การแสดงออก เป็นต้น อีกทั้งหากต้องการคนดูแลก็สามารถอยู่เป็นเพื่อนได้นะครับ

            ขอเสริมนิดนึงนะครับ ครอบครัวคนไหนที่มีรายได้มากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อปี หรือมีฐานะแบบที่ใช้เงินไม่หมดแล้ว ก็สามารถรับบุคคลออทิสติกมาดูแลได้ด้วย ซึ่งหมายถึง "ครอบครัวอุปการะ" นั่นเอง ถามว่าการมีครอบครัวอุปการะ จะทำให้คนที่ผิดหวังเรื่องมีลูก หรืออยากมีลูกสามารถดูแลเอาใจใส่ และช่วยเหลือให้เกิดพัฒนาการที่ดีขึ้นไ้ในที่สุด และอีกอย่าง เรื่องนี้ไม่ควรมีค่าใช้จ่าย เพราะถ้าหากมีค่าใช้จ่ายทำให้บุคคลออทิสติกที่ไม่มีฐานะต้องขาดการฝึกพัฒนาการไปอย่างน่าเสียดายเลยล่ะครับ


            เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากให้เกิดในรอบปี 2566-2570 ผมอยากให้สังคมหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ฝากให้ทุก ๆ คนช่วยพิจารณาเรื่องนี้นะครับ ขอบคุณทุก ๆ ท่านมากครับ สวัสดีครับ




    อัษฎากรณ์ ขันตี

1 มกราคม 2566


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

รีวิวการใช้งาน เว็บไซต์คัดกรองบุคคลออทิสติก

ค่ายเยาวชน ปี 2567