สิ่งที่อยากเห็นเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกและเด็กพิเศษในปี 2566-2570 (ตอนแรก)
ในบทความนี้ ผมอยากจะเล่าสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกรอบ 5 ปี ให้หลัง ถามว่าทำไมผมถึงต้องเขียนบทความนี้ ข้อที่หนึ่ง เป็นการเล่าถึงปัญหาต่าง ๆ ว่าเกิดจากอะไร ทำไมถึงต้องมีสิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้นจะช่วยในเรื่องของบุคคลออทิสติกอย่างไร ข้อที่สอง เป็นการที่จะต้องให้ทุกคนเตรียมเนื้อหา ว่าสิ่งที่ผมพูด เห็นด้วยหรือไม่ และหาวิธีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลออทิสติกอย่างไร ข้อที่สาม เป็นการเล่าถึงสิ่งที่อยากให้มีภายใน 5 ปี เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงสถานการณ์ และนำไปปรับใช้เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขครับ อันนี้ผมจะเอาเฉพาะสิ่งที่ผมอยากให้มีเกี่ยวกับบุคคลออทิสติก และผมมองว่าเรื่องนั้น ๆ สามารถทำได้ภายใน 5 ปีหลังจากนี้ แล้วใครมีอะไรเพิ่มเติมก็สามารถระบุได้ที่ aussadakornkhantee@gmail.com นะครับ
บทความนี้เป็นการเล่าว่า ในความคิดเห็นของผมนั้น อยากให้มีอะไรเกิดขึ้นเกี่ยวกับคนพิการในรอบ 5 ปีให้หลัง เพื่อที่จะทำให้หลาย ๆ คนได้ปรับตัว รวมทั้งผมด้วยนะครับ อีกทั้งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้นำมาพิจารณา และหาทางออก เพื่อที่จะทำให้บุคคลออทิสติกได้พัฒนาศักยภาพและอยู่ในสังคมได้ดังคนปกตินั่นเอง ทีนี้ผมจะเล่าถึงสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นในรอบปี 2566-2570 กันนะครับ
1.การเรียนรวมในต่างจังหวัด และการรองรับบุคคลออทิสติกในโรงเรียนที่มิใช่โรงเรียนรวม ถามว่าทำไมข้อนี้ถึงเป็นข้อแรก ๆ อันนี้ต้องอย่าลืมว่าทั้งในต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานครยังมีปัญหาเกี่ยวกับการรับนักเรียนออทิสติก แล้วทำไมถึงยังมีการปฏิเสธบุคคลออทิสติกล่ะ นี่คือปัญหาที่คลาสสิค ๆ ผมเชื่อว่าบางท่านทราบ แต่เลือกที่จะนิ่งเฉย เหตุผลก็จะบอกว่า บ้างก็ไม่มีงบล่ะ บ้างก็ไม่มีคนดูแลล่ะ บ้างก็ไม่มีครูเฉพาะทางล่ะ บ้างก็ไม่มีห้องเรียนล่ะ บ้างก็ไม่มีพื้นที่รองรับล่ะ ทุกคนครับ ปรับตรงนี้ใหม่นะครับ ผมเชื่อว่าเรื่องนี้มีทางออก เพียงแต่ว่าโรงเรียนนั้น ๆ จะจัดการอย่างไร ซึ่งอาจจะยากและวุ่นวาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ได้เลยนะครับ
ขั้นตอนแรกเลย คือ ผอ. และรอง ผอ.ควรจะมาเยี่ยมบ้านของนักเรียนที่เป็นออทิสติก และพูดคุยกับผู้ปกครอง ว่าเด็กคนนี้เป็นไงบ้าง ทำอะไรได้บ้าง สามารถพูดและสื่อสารได้หรือเปล่า ฟังคำสั่งได้บ้างไหม อยากให้โรงเรียนช่วยอะไร (ผู้ปกครองต้องให้ความร่วมมือกับโรงเรียนด้วย) เด็กคนนี้ชอบ - ไม่ชอบวิชาอะไร ต้องปรับตรงไหนบ้าง (เข้ากับเพื่อน-การสื่อสาร-สังคม-บริบททางสังคม) และต้องทานยาอะไรไหม เป็นต้น แล้วให้ ผอ. กับรอง ผอ.เรียกประชุมครูทั้งครูประจำชั้น และครูผู้สอน
ขั้นตอนที่สองนะครับ ผอ. รอง ผอ. ครูประจำชั้น ครูผู้สอน และผู้ปกครอง ควรจะเรียกประชุมร่วมกัน ในการปรับเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอน และเสริมในสิ่งที่เด็กสนใจ อีกทั้งในการเรียนควรฝึกเด็กในเรื่องของทักษะทางสังคม ทักษะการดำรงชีวิต ทักษะการพูด ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะในการส่งเสริมพัฒนาการ ทักษะอาชีพและทักษะการเรียน
ขั้นตอนที่สามนะครับ ควรจะมีการประเมินเบื้องต้นในด้านการเรียน การใช้ชีวิต การเข้าสังคม และพฤติกรรม ว่าเด็กคนนี้ชอบทำอะไร เรียนวิชาไหนได้บ้าง เรียนวิชาไหนไม่ได้บ้าง ต้องเสริมวิชาอะไร ต้องเรียนรู้วิชาไหนบ้าง เข้ากับเพื่อนได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนนี้ชอบพวกไอที ชอบวิชาเลข แต่มีอารมณ์โมโห และเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ดังนั้น ครูจึงแบ่งตารางเรียน ให้เรียนวิชาเลข วิชาคอมพิวเตอร์ และต้องฝึกการควบคุมอารมณ์ การเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม หากวิชาไหนที่เรียนได้เหมือนคนปกติก็ให้เรียนร่วมได้เลย อีกทั้งต้องฝึกในการเข้าหาเพื่อน การพูดคุยกับเพื่อน การทำงานกับเพื่อน โดยมีครูที่ปรึกษา ครูประจำวิชา และครูพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
ขั้นตอนที่สี่นะครับ ควรหากิจกรรมต่าง ๆ ในการเรียนรู้ของบุคคลออทิสติก ทั้งกิจกรรมนอกสถานที่ กิจกรรมเรียนรู้ชุมชน/ท้องถิ่น กิจกรรมทัศนศึกษา กิจกรรมพบปะกับคนในสังคม ทำไมถึงต้องมีกิจกรรมเหล่านี้ล่ะ แล้วจะทำให้พัฒนาการดีขึ้นหรือไม่ คำตอบคือ ที่ต้องมีกิจกรรม ทำให้เด็กได้เพิ่มความรู้ ในสิ่งที่เด็ก ๆ สนใจ บางทีเด็กก็สามารถใจจดใจจ่อกับสิ่งนั้น ๆ ได้ทั้งวันเลยด้วยซ้ำ อีกอย่างเมื่อได้เห็นสถานที่จริง เด็กออทิสติกก็จะสามารถเรียนและซึมซับได้ง่ายกว่าการเรียนในห้องเรียน เพราะบุคคลออทิสติกจะเรียนรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ดีกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม อีกอย่างก็จะมีการฝึกเรื่องของการเข้าสังคม และการอยู่ในโลกภายนอก การออกนอกพื้นที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในสังคม ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร ให้สามารถอยู่ในสังคมได้ เช่น เดินต่อคิว ทิ้งขยะเมื่อทางอาหารเสร็จแล้ว ไม่ควรส่งเสียงดัง เป็นต้น ไม่ใช่แค่นั้น การออกนอกสถานที่ทำให้เด็กออทิสติกได้มีโอกาสแสดงออก และสามารถฝึกการพูดคุย แต่ก่แนหน้านั้นควรอธิบายให้เข้าใจ และสอนเป็นรูปภาพก่อนนะคร้าบบบบบบ
ขั้นตอนที่ห้านะครับ ควรจะมีการนิเทศ-ติดตามบุคคลออทิสติก ทั้งในเรื่องของการเรียน กิจกรรม การเข้าสังคม ว่าเด็กมีปัญหาหรือพฤติกรรมอะไรรึเปล่า เรียนหนังสือกับเพื่อน ๆ ได้หรือเปล่า เข้ากับเพื่อนได้หรือเปล่า มีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือถดถอยอย่างไรบ้าง ต้องปรับหรือส่งเสริมตรงไหนบ้าง ยกตัวอย่างนะครับ เด็กชายออ ชอบคุยเรื่องประวัติศาสตร์ และภาษาอังกฤษ แต่ไม่ถนัดวิชาเลข ครูจึงต้องเสริมในวิชาประวัติศาสตร์และภาษาอังกฤษ และสอนให้เขาเข้ากับเพื่อน ๆ ในสังคม ถ้ามีโอกาสพาไปสถานที่จริงพาไปเลยครับ ถ้าเด็กมีพฤติกรรมไม่สบายใจ ให้โอกาสระบายให้เต็มที่ เมื่อระบายเสร็จแล้วก็อธิบายเหตุผล จากนั้นถ้าสยายใจแล้วก็ทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่อย่าเร่งเร้านะครับ
2.สังคมเริ่มจะรับฟังบุคคลออทิสติกมากขึ้น และมีพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันมากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สองที่อยากให้เกิดขึ้นนะครับ แล้วทำไมถึงอยากให้เกิดล่ะ ถ้าเผื่อใครจะถาม คำตอบคือ ต้องเข้าใจว่าบุคคลออทิสติกชอบโชว์ความสามารถ และบุคคลออทิสติกชอบให้คนมารับฟัง แม้ว่าการสื่อสารอาจจะไม่ค่อยชัด หรือกุก ๆ กัก ๆ คำตอบคือ เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้มีพื้นที่ในสังคม และบุคคลออทิสติกต้องการ Safe Zone เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้มีพื้นที่ปลอดภัยในสังคมนั่นเอง อีกทั้งช่วยให้สังคมได้เข้าใจอัฒลักษณ์และการวางตัวเมื่ออยู่กับบุคคลออทิสติกสักทีนั่นเองครับ เข้าใจนิดนึงว่าสังคมบ้านเราจะรู้หน้าไม่รู้ใจ สังคมบ้านเราจะชอบใส่หน้ากากในการเข้าหาเสมอ จึงเกิดความห่างเหินกับบุคคลออทิสติก ถ้าบุคคลออทิสติกไม่ส่งเสียงก็ทำให้บุคคลออทิสติกกลายเป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกลืมในสังคมนั่นเอง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เลยครับ ผมจึงมีแนวทางในการพัฒนาตรงนี้อยู่ 5 ข้อ
1) หาโอกาสและกิจกรรมในการพูดคุยกันกับบุคคลออทิสติกบ่อย ๆ เรื่องนี้สำคัญมากนะครับ เพราะการที่จะอยู่ร่วมกับบุคคลออทิสติกให้ได้นั้น การทำกิจกรรมบ่อย ๆ ถือเป็นการฝึกทักษะบุคคลออทิสติก บุคคลออทิสติกจะเรียนรู้ในกิจกรรมได้ดีกว่าพูดเฉย ๆ โดยที่เขาไม่ได้เข้าใจ การทำกิจกรรมจะช่วยให้บุคคลออทิสติกมีสมาธิ ใจจดใจจ่อมากขึ้น ได้เรียนรู้การเข้ากับคนอื่น ได้เรียนรู้เรื่องของมารยาททางสังคมที่ควรทราบ กิจกรรมในการพูดคุยกับบุคคลออทิสติกนั้น สามารถพูดคุยได้ทั้งในคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือจะเป็นที่อื่น ๆ ได้ แต่ต้องแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบด้วยนะครับ การพูดคุยควรจะพูดคุยในสิ่งที่แต่ละคนสนใจ กิจวัตรประจำวัน และสามารถเล่าให้ฟังได้ (อย่าเป็นเรื่องเงินนะครับ) และขออีกอย่างว่าขอให้ปฏิบัติกับบุคคลออทิสติกเหมือนคนปกติ แต่ต้องค่อย ๆ พูด และอธิบายให้เข้าใจ ใครไม่ชอบการอธิบายขอให้ทำใจนิดนึงนะครับ
2) นัดเวลาพบปะและติดตามเรื่องราวของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง พอจะทราบแล้วนะครับว่าบุคคลออทิสติกต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่องในการพัฒนาศักยภาพนะครับ อีกทั้งพวกเขาก็มีความพยายามที่จะพูดคุย และแสดงออก เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ในสังคมได้เหมือนคนปกติเลยนะครับ การที่จะพูดคุยต้องเข้าใจนิดนึงว่า ทุกคนต่างคนต่างก็ต้องมีภาระหน้าที่ แต่บุคคลออทิสติกจะคิดแบบว่า เขาไม่สนใจเรา เขาไม่ให้ความสำคัญเรา จึงเกิดความน้อยอกน้อยใจขึ้นได้ แต่เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ผมจึงต้องหาเวลามานัดคุย เพื่อเล่าและระบายความรู้สึก ไม่ใช่แค่นั้น ต้องติดตามเรื่องราวของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่พัฒนาการนะครับ แต่ต้องรวมไปถึงทักษะการพูด ทักษะทางสังคม ทักษะการดำรงชีวิต ทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น หากเกิดปัญหา ควรจะปรึกษาผู้ปกครอง ว่าจะช่วยอย่างไร และสามารถหาทางแก้ไขได้ทันทีเลยครับ
3) หาเวทีและกิจกรรมในการแสดงออกของบุคคลออทิสติก อย่างที่ทราบว่าสังคมบ้านเราเป็นสังคมปิด รู้หน้าไม่รู้ใจ และมักจะใส่หน้ากากในการเข้าหากันนะครับ ทำให้ครอบครัวรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ อีกทั้งบุคคลออทิสติกจะเสี่ยงในการถูกหลอกลวงได้ง่าย ครอบครัวและบุคคลที่เกี่ยวข้องควรจะหาเวทีและกิจกรรมในการแสดงออกของบุคคลออทิสติก ทำไมถึงต้องมีตรงนี้ คำตอบคือ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกให้ไปสู่ฝั่งฝัน และเปิดโอกาสในการเข้าสังคม ได้รู้จักและพบปะบุคคลใหม่ ๆ ในสังคม ได้ฝึกของการพูดและการเข้าสังคมไปในตัวเลยทีเดียวครับผม การพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก นอกจากจะต้องมีเวทีแล้ว ควรที่จะหากิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อฝึกทักษะบุคคลออทิสติก และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในที่สุด
4) สำรวจบุคคลออทิสติกอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้สำคัญนะครับ บุคคลออทิสติกหลายคนไม่สามารถค้นหาศักภาพตนเองได้ดีเท่าที่ควร คนที่ใกล้ชิตกับบุคคลออทิสติกจึงต้องสำรวจว่าเขาชอบอะไร ทำอะไรได้บ้าง และต้องส่งเสริม-เพิ่มเติมด้านไหน อีกทั้งต้องหาต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ การที่จะค้นหาศักยภาพบุคคลออทิสติกได้นั้น ต้องใช้การสังเกต การสัมภาษณ์จากผู้ปกครองและคนใกล้ชิด การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ถ้าสำรวจว่าบุคคลออทิสติกชอบสิ่งนั้นได้แล้ว ก็ให้สนับสนุน และทุ่มกับมันซะ.. อย่างเช่น บุคคล ๆ นี้ชอบเล่นกีต้าร์ และมักจะมีเรื่องนักร้อง เมื่อสังเกตได้แล้ว ควรให้เขาไปฝึกฝน และพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีงานที่ไหนแล้วผู้ปกครองยินยอมก็ให้แสดงความสามารถได้เลยครับ
5) ถ้ามีอะไรไม่สบายใจ หรือขับข้องใจ ให้มาคุยทันที บุคคลออทิสติกจะมีความไวในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก และสถานการณ์ที่มากกว่าปกติ รวมทั้งจะเป็นคนที่ทำอะไรตามตารางชีวิต หากผิดจากตรงนั้น ก็จะเกิดความรู้สึกที่เครียด และไม่สบายใจออกมาทันที ดังนั้น หากมีอะไรที่เครียด ไม่สบายใจ ให้บุคคลออทิสติกคนนั้นเล่าทันที ทำไมถึงต้องทำอย่างนั้น เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้ระบายความรู้สึก ได้เล่าในสิ่งที่ไม่สบายใจ แน่นอนว่าจะเล่ายาว และช้า ทำให้หลาย ๆ คนอาจจะหงุดหงิดหรือรำคาญ ทุกคนครับ ปล่อยให้เล่าให้จบดีกว่าครับ ต้องใจเย็น ๆ นิดนึง จากนั้นก็ค่อย ๆ พูดให้เข้าใจ หรือให้คำปรึกษาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องช่วยแก้ปัญหาเสมอไป ถ้ามีเรื่องไม่สบายใจ คนที่จะรับฟังต้องคุยกับผู้ปกครองด้วย และต้องค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ อธิบายเหตุผลให้เข้าใจ ไม่อย่างนั้นก็จะพังกันหมดทุกฝ่ายนะครับ
3. มี Workshop ที่หลากหลายขึ้น บุคคลออทิสติกในแต่ละคนก็มีสิ่งที่คล้าย ๆ เหมือน ๆ กันนั่นคือ ปัญหาทางอารมณ์ ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาการพูด ปัญหาการเข้าสังคม ปัญหาการแสดงออก แต่มีสิ่งที่ต่างกันนั่นคือ บุคคลออทิสติกต่างก็มีศักยภาพ มีความรู้ ความสามารถที่ไม่ต่างจากคนปกติ และหลาย ๆ อย่างยังดีกว่าคนปกติเลยด้วยซ้ำ ทำไมผมถึงต้องพูดในเรื่องนี้ คำตอบก็คือ ปัญหาของบุคคลออทิสติกคือ ขาดการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง และขาดคนที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก ทุกคนครับ คนที่เก่งในแต่ละด้านมีสิทธิ์ในการพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกได้นะครับ แต่ครูการศึกษาพิเศษ ผู้ปกครอง และผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องของบุคคลออทิสติก ก็ต้องให้คำแนะนำและเทรนเกี่ยวกับเรื่องบุคคลออทิสติกและลูกหลานของท่านด้วย และคอยให้คำปรึกษาในกรณีที่เกิดปัญหาดังกล่าวนั่นเอง
การที่จะมี Workshop สำหรับบุคคลออทิสติกได้นั้น ผมจะแนะนำขั้นตอนคร่าว ๆ อยู่ 7 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนแรกผู้ปกครองควรจะไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่สนใจ จากนั้นต้องหาเวลาพบเจอ คุยกันให้เรียบร้อย ว่ามีน้องคนหนึ่งเป็น... อยากให้พัฒนาศักยภาพด้าน... ต้องช่วยปรับตรง... และอยากให้สอนเรื่องของ.. จะพุดประมาณนี้หรือจะพลิกปพลงได้แล้วแต่นะครับ จากนั้นก็ต้องดูว่าคนนั้น ๆ จะโอเคกับบุคคลออทิสติกหรือไม่ ถ้าไม่โอเคก็แล้วแต่ดุลยพินิจของเขานะครับ แต่ถ้าโอเครก็สามารถทำตามที่ขั้นตอนที่สองได้เลยครับ
ขั้นตอนที่สองนั่นคือนัดเวลาพูดคุย แล้วก็เล่าถึงเด็กคนนั้น ว่าอยากเรียนแบบนี้นะ อยากพัฒนาตรงนี้นะ อยากออกงานอะไรบ้าง สามารถประกอบเป็นอาชีพได้หรือไม่ จากนั้นก็คุยกันคร่าว ๆ ว่าจะสอนในเรื่องของอะไรบ้าง จะพัฒนาศักยภาพของพวกเขาอย่างไร แล้วจะสามารถต่อยอดได้อย่างไรบ้าง และต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เด็กจะสามารถต่อยอดอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ต้นน้ำคือเด้กเป็นคนชอบ Coding แต่ไม่รู้จะต่อยอดอย่างไร คนที่เทรนเลยค่อย ๆ สอน และต้องสอนให้เป็นรูปภาพให้มากที่สุด เพราะบุคคลออทิสติกจะเรียนรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ดีกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม กลางน้ำคือการสอนและเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ปลายน้ำคือการออกงาน และแสดงผลงานของเด็กคนนั้นครับผม
ขั้นตอนที่สาม คือการพูดคุยแบบแนะนำตัวเด็ก เมื่อผ่านขั้นตอนที่สองแล้ว ผู้ปกครองก็ต้องเอาเด็กหรือบุคคลออทิสติกตัวเป็น ๆ มาแนะนำให้รู้จัก จากนั้นก็พูดคุยถึงประวัติคร่าว ๆ ว่าเด็กคนนี้ชื่ออะไร นิสัยเป็นอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง เรียนกับเพื่อนได้หรือไม่ สามารถอยู่กับคนในสังคมได้หรือไม่ สามารถออกงานได้หรือไม่ มีความต้องการจำเป็นพิเศษอะไรเพิ่มเติมไหมครับ ต้องการความช่วยเหลือด้านไหน อยากให้ฝึกด้านไหน เป็นต้น
ขั้นตอนที่สี่คือการทำความคุ้นเคยกับเด็ก ว่าเด็กชอบอะไร ทำอะไรได้บ้าง นิสัยเป็นอย่างไร วางตัวกับเขาอย่างไร ควรจะปรับปรุงอะไร ผู้ที่มาเทรนต้องพูดคุยกับเด็กเบื้องต้นว่า เด็กชื่ออะไร นิสัยอย่างไร ชอบทำอะไร อยู่บ้างทำอะไรบ้าง เรียนหนังสือกับเพื่อน ๆ ได้หรือไม่ เข้ากับสังคมได้หรือเปล่า จากนั้นจึงค่อย ๆ คุ้นเคย หากสิ่งไหนที่ไม่พึงประสงค์ก็ขอให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ พูด และต้องอธิบายให้เด็กรู้เรื่อง และพูดต้องมีเหตุผล มิฉะนั้นก็จะถือเป็นการทำร้ายความรู้สึกของเด็กไปในตัว
ขั้นตอนที่ห้าคือพัฒนาศักยภาพ และดูแลเขาให้ดีที่สุด อันนี้สำคัญนะครับ ในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพ การที่จะเทรนบุคคลออทิสติกได้ แน่นอนว่าต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ ต้องเข้าใจนิดนึงว่าบุคคลออทิสติกถ้าทำอะไรได้ ก็จะทำแบบไปให้สุดทางเลยทีเดียว และอาจจะทำได้มากกว่าที่คิด การสอนจึงต้องสอนเป็นรูปธรรม และอธิบายซ้ำ ๆ จนกว่าที่จะเข้าใจ อย่าไปเร่งเร้า อย่าไปกดดัน ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ และเขาจะพัฒนาศักยภาพได้ในที่สุด การดูแลบุคคลออทิสติกคือสิ่งสำคัญอีกอย่าง เพราะถ้าผู้ปกครองฝากมาแล้ว ควรทำให้ดีที่สุด ที่ต้องดูแลเพราะอยากให้เขาได้พัฒนาศักยภาพ ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ มีพื้นที่ในการพูดคุย ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และทำให้บุคคลออทิสติกมีพื้นที่ในสังคมนั่นเองครับ
ขั้นตอนที่หกคือการฝึกในเรื่องของการออกงาน และทำกิจกรรมข้างนอก อันนี้สำคัญนะครับ ทำไมต้องให้บุคคลออทิสติกไปทำกิจกรรมข้างนอก คำตอบคือ ให้เขาไปเจอโลกกว้าง ไปเจอสังคมใหม่ ๆ เพื่อนใหม่ ๆ เจอสิ่งใหม่ ๆ ให้ได้เรียนรู้ การไปออกงานนอกจากไปเอาสิ่งใหม่ ๆ แล้ว ยังทำให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ และพัฒนาตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การทำกิจกรรมข้างนอกอันดับแรกคือบอกล่วงหน้า จากนั้นก็บอกให้ผู้ปกครองได้เข้าใจ และออกงาน การออกงานจะค่อย ๆ สอนตั้งแต่การเดิน พูดคุย ทานอาหาร และบริบททางสังคมที่ควรทราบครับ เรื่องนี้ต้องลองบ่อย ๆ นะครับ
ขั้นตอนที่เจ็ดคือการดูแล และติดตามอย่างต่อเนื่อง บุคคลออทิสติกจะพัฒนาศักยภาพได้นั้น ความต่อเนื่องคือสิ่งสำคัญ แน่นอนว่าต้องใช้เวลาเป็นปีในการที่จะพัฒนาได้แบบที่ไม่ต้องมีใครห่วงนั่นเองครับ ดังนั้นการดูแลและติดตามอย่างต่อเนื่องคือสิ่งหนึ่ง ที่ทำให้บุคคลออทิสติกสามารถไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การติดตามควรจะถามทั้งเด็กและผู้ปกครองว่า เด็กสามารถทำอะไรได้ เป็นไงบ้าง และศักยภาพดีขึ้นหรือไม่ ประมาณนี้เลยครับ
สรุปแล้วการมี Workshop สำหรับบุคคลออทิสติกเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ นอกจากพัฒนาศักยภาพ ยังได้ถึงทักษะการพูด ทักษะอารมณ์ ทักษะสังคม และอีกมากมายเลยนะครับ
4.มีพื้นที่ในการแสดงออกในที่สาธารณะและควรจะมีการขึ้นบอร์ดและประชาสัมพันธ์กับบุคคลออทิสติกมากขึ้น ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ คำตอบคือ เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้มีพื้นที่ในการแสดงออกที่มากขึ้น ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่บุคคลออทิสติก และทำให้บุคคลออทิสติกได้มีพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์มากขึ้น ถ้าเขาทำอะไรให้ดีขึ้นได้ก็แสดงออกมาให้ดีที่สุด เพื่อให้สังคมได้คิดเสมอว่า "บุคคลออทิสติกสามารถพัฒนาได้" สังคมบ้านเราเวลาจะเชิดชูก็จะเอาแต่เด็กเก่ง แต่บุคคลออทิสติกกลับไม่เชิดชู ผมอยากให้โรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ เชิดชูบุคคลออทิสติกให้มากกว่านี้ ผมไม่ใช่ว่าผมไปเบียดเบียนหรืออคติอะไรกับเด็กเก่งนะครับ ใครดีเก่งและดูอยู่แล้วก็เชิดชูไปเถอะ แต่ผมต้องการให้บุคคลออทิสติกได้รับการเชิดชูและติดบอร์ดบ้าง เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าเราก็พัฒนาได้นะครับ ผมว่าถึงจะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ทำให้สังคมรู้จัก เข้าใจ และหาทางพูดคุยเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกมากขึ้นนั่นเองครับ
อันนี้ผมกำลังจะบอกถึงสิ่งที่อยากให้คนในสังคมได้เปิดโอกาสในการแสดงออก และให้มีการขึ้นบอร์ด ผมอยากจะแนะนำให้ทุก ๆ คนได้พิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ผมจะพิจารณาอยู่ ข้อ ดังนี้
1.มีเวทีในการพูดคุย เสวนา เล่าเรื่อง เกี่ยวกับบุคคลออทิสติกให้มากขึ้น ทำไมต้องมีเรื่องนี้ จะขอบอกก่อนว่า บุคคลออทิสติกหลาย ๆ คน พยายามที่จะสื่อสาร และอยากที่จะแสดงออกในที่สาธารณะ แต่สภาพสังคมไม่ได้เอื้ออำนวยมากพอ ทำให้บุคคลออทิสติกขาดโอกาสในการแสดงออกเรื่องนี้ ดังนั้นการมีเวทีพูดคุยจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการฝึกทักษะในเรื่องของการพูด การถาม การตอบของบุคคลออทิสติกได้เป็นอย่างดี และทำให้สังคมเข้าใจบริบทของบุคคลออทิสติกให้มากขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้เล่าสู่กันฟังอย่างเป็นกันเอง รับรองว่าประทับใจไม่มีลืมเลยทีเดียว
2.ร่วมกันตั้งคำถามเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกอย่างต่อเนื่อง ต้องเข้าใจนะว่าคนในสังคมจะไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามกับเรื่องนี้สักเท่าไร ทุกคนครับ การตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้สังคมเริ่มที่จะมีการพูดถึงบุคคลออทิสติกมากขึ้น แม้อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ อย่างน้อยคนก็ค่อย ๆ ไตร่ตรองว่า บุคคลออทิสติกคือใคร มองแบบไหน ทำอะไรได้บ้าง ดีไม่ได้ก็อาจจะหาทางออกกับทางในการแก้ปัญหาบุคคลออทิสติกให้มีพื้นที่ในสังคมได้มากขึ้นด้วยนะครับ
3.ควรมีกิจกรรมให้บุคคลออทิสติกได้แสดงศักยภาพมากขึ้น อันนี้ผมก็เคยบอกไปแล้ว ว่าบุคคลออทิสติกต้องมีกิจกรรมในการฝึกทักษะต่าง ๆ ทั้งศักยภาพ การพูด อารมณ์ การเรียน การเข้าสังคม เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้สามารถพัฒนาศักยภาพ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขนั่นเองครับ
4. แต่ละสถานที่ควรมีการเชิดชูบุคคลออทิสติกให้มากขึ้น เข้าใจว่าคนในสังคมจะเชิดชูแต่เด็กเก่ง ๆ เด็กสอบเข้าโรงเรียนดี มหาวิทยาลัยดัง ทุกคนครับ อยากให้บุคคลออทิสติกได้มีโอกาสเชิดชูบ้าง ทำไมต้องทำแบบนี้ เพื่อให้คนในสังคมได้รู้จักบุคคลออทิสติกให้มากขึ้น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเด็กมากขึ้น ได้เข้าใจบริบทของบุคคลออทิสติกมากขึ้น ได้ทราบถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของบุคคลออทิสติก และได้เป็นแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นต่อ ๆ ไป สังคมควรจะอยู่เคียงข้างบุคคลออทิสติกให้มากกว่านี้ได้แล้ว
5.ต้องมีการประชาสัมพันธ์ และทำให้คนเห็นความสำคัญของบุคคลออทิสติก เรื่องนี้สำคัญนะครับ ใครที่เป็นนักประชาสัมพันธ์เก่ง ๆ Youtuber คนติดตามมาก ๆ ควรที่จะมาศึกษาบุคคลออทิสติกและเข้าใจบริบทของพวกเขามากขึ้น อย่างน้อยสังคมจะได้เข้าใจ และสามารถปรับตัวเข้ากับบุคคลออทิสติกได้เป็นอย่างดี และทำให้สังคม เริ่มที่จะหาทางในการทำให้บุคคลออทิสติกอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดีไม่ดีบุคคลออทิสติกก็จะได้ค่าขนมไปทานด้วยนะครับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
จาก 4 ข้อใหญ่ ๆ นี้ ผมว่าผู้ใหญ่หลาย ๆ คนคงจะร้องอ๋อกันได้บ้าง แต่ผมอยากให้ผู้ใหญ่ได้พิจารณา และนำมาใช้กับบุคคลออทิสติก เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และพัฒนาศักยภาพต่อไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด โปรดติดตามตอนจบได้ในอีกไม่กี่วัน วันนี้ต้องขอตัวก่อนนะครับ ขอบคุณทุก ๆ คนมากครับ
อัษฎากรณ์ ขันตี
29 ธันวาคม 2565
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น