เรื่องเล่า และความในใจวันรับปริญญาของผม (ตอนจบ)


             

            ในตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายของซีรี่ส์เรื่องเล่า และความในใจวันรับปริญญาของผมนะครับ ตอนนี้ผมจะเล่าแบบจัดเต็มให้ทุก ๆ คนได้เข้าใจ และรับรู้ เนื้อหาตอนนี้คือแบบ..เข้มข้น ข้นจนมันเลยล่ะครับ อิอิ ตอนนี้จะเเป็นเรื่องของออทิสติก สิ่งที่อยากฝากแก่ทุก ๆ คนในเรื่องนี้ สรุปและทิ้งท้ายในตอนเดียวกันนะครับ ตอนนี้จะเป็นเรื่องราวที่ห้ามพลาด ผมจะฝากถึงทุก ๆ คน ทั้งคนที่เป็นเพื่อนใน Facebook หรือไม่ได้เป็นเพื่อนก็ตาม ทั้งคนที่เข้ารับและไม่ได้เข้ารับปริญญา ขอให้อ่านตอนนี้ จะผิดหรือถูกกันอย่างไร ค่อยว่ากันอีกทีนะครับ

เรื่องออทิสติก & ก้าวสู่สังคม   

            เรื่องนี้จะเป็นความรู้ทั่วไปที่เสริมเนื้อหาเกี่ยวกับบทความตอนนี้นะครับ ผมเชื่อว่าบางคนพอที่จะเข้าใจคำ ๆ นี้นะครับ คำว่า "ออทิสติก" คือบุคคลคนหนึ่ง ที่ดูเหมือนกันกับคนปกติ แต่จะมีความผิดปกติในระบบประสาทและระบบสมอง ทำให้เกิดการแสดงออกที่ไม่เหมือนกันกับคนอื่น อาทิ การพูด กริยาท่าทาง ความคิด การมองโลก การเข้าสังคม การแสดงออก บุคคลออทิสติกจะชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ชอบพูดแต่เรื่องที่สนใจ ชอบอยู่ในโลกของตัวเอง ชอบหมกมุ่นในสิ่งที่เขาต้องการ ทำอะไรก็ต้องตรงเวลา ยึดติดกับกิจวัตรเดิม ๆ มีความอ่อนโยน ละเอียดอ่อน ผูกพันกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เรียนรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ดีกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม มีความพยายามที่จะทำให้คนในสังคมยอมรับและเข้าใจเขาได้ ชอบแสดงความสามารถ เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเราก็พัฒนาได้ นั่นเอง แต่อยากให้ทราบถึงบุคคลออทิสติกอย่างอีกอย่างก็คือ การพูดอาจจะกุก ๆ กัก ๆ ไม่สามารถปรับตัวแบบกะทันหัน ไม่สามารถปรับตัวในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ชอบพูดแต่สิ่งที่สนใจ ไม่มองหน้าคู่สนทนา วางตัวไม่ถูกเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ยืดหยุ่นเสมอ มีปัญหาในการเข้าสังคม มีปัญหาในการพูดคุย/สื่อสารกับผู้อื่น เป็นต้น 

จะขอบอกเรื่องหนึ่ง 5 เหตุผลว่าทำไมบุคคลออทิสติกมีปัญหาในการเข้าสัคมครับ

                1. สังคมขาดความเข้าใจอัฒลักษณ์และบริบทของบุคคลออทิสติก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ขาดความรู้ในเรื่องนี้ และขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และทักษะในเรื่องเหล่านี้ ทำให้คนในสังคมไม่สามารถที่จะทราบถึงบริบท และวิธีการดูแลของบุคคลออทิสติก ทำให้บุคคลออทิสติกขาดการดูแลจากคนในสังคม และเกิดความห่างเหินโดยที่เด็กสงสัยว่า "เราทำอะไรผิดเหรอ" อีกทั้งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะถ้าทำอะไรไม่พึงประสงค์ครอบครัวของเด็กจะเดือดร้อนโดยทันที

                2. บุคคลออทิสติกไม่สามารถปรับตัวเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยืดหยุ่น ในสังคมต่างก็ต้องเจอคนที่มากหน้าหลายตา ต่างคนต่างก็มีนิสัยที่ไม่เหมือนกัน และบุคคลออทิสติกจะยึดกิจวัตรเดิม ๆ เปลี่ยนแปลงยาก และเพื่อน ๆ ในสังคมมักจะไม่ค่อยยึดตามกิจวัตรเดิม ๆ สักเท่าไร ทำให้บุคคลออทิสติกขาดการเรียนรู้การเข้าสังคมหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งบ้านเราก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องนี้ ทำให้เรื่องนี้ครอบครัวจะเป็นคนสอนเกือบทุกคนเลยล่ะครับ 

                3.ขาดคนที่สามารถมาเป็นคนกลางให้เด็ก คงพอจะทราบว่าบุคคลออทิสติกมีปัญหาเรื่องของการสื่อสาร ทำให้ต้องพึ่งล่ามหรือคนกลางในการทำความเข้าใจพวกเขา คนที่จะเป็นล่ามต้องคอยอธิบายว่า "น้องเค้าเป็นแบบนี้นะ", "น้องเค้านิสัยอย่างนี้นะ","น้องเค้าชอบแบบนี้นะ","ต้องเข้าใจนิดนึงนะ", "ขอให้ดูแลน้องเขาหน่อยนะคะ/ครับ" ผุ้ปกครองทุกคนควรจะอธิบายให้คนในสังคมเข้าใจ แต่ไม่ใช่แค่ผู้ปกครองก็สามารถทำได้ ขอให้มีความเข้าใจ และดูแลพวกเขาได้ดีพอนะครับ

                4.ขาดเวลาในการทำความคุ้นเคย และขาดความต่อเนื่องในการอยู่ร่วมกัน ในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลออทิสติกนั้นต้องใช้เวลาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ เข้ากับสภาพแวดล้อม ทั้งศึกษานิสัย ทั้งเรียนรู้ความถนัด / ความสนใจ ทั้งสังเกตว่าเขาชอบทำอะไร มีบุคลิกอย่างไร เป็นต้น การอยู่ร่วมกันกับบุคคลออทิสติก ความต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญนะครับ ถามว่าสำคัญอย่างไร เพราะต้องสังเกตว่าพัฒนาการของเขาไปได้ถึงไหนแล้ว สามารถทำอะไรได้บ้าง  คุยแล้วเป็นอย่างไรบ้าง จุดไหนที่ต้องปรับ จุดไหนที่ต้องพัฒนา จุดไหนที่ต้องเรียนรู้ จุดไหนที่ต้องมาคุย และเวลาที่ไม่สบายใจหรืออยากเล่า ก็ให้เล่าไป แต่ขอให้มีโอกาสเล่าให้ฟังบ่อย ๆ เพราะจะได้เข้าใจบริบทมากขึ้น และสามารถพัฒนาศักยภาพของเขาได้อย่างไร้ขีดจำกัดครับ

                5.บุคคลออทิสติกจะมีการแสดงออกที่ไม่คุ้นเคยสักเท่าไร จริง ๆ มีอยู่หลายอย่าง อาทิ ยึดติดกับกิจวัตรเดิม  ๆ ทำอะไรก็ต้องตรงเป็ะ ขาดความยืดหยุ่น ไม่สบายใจบ่อย ๆ แสดงอารมณ์ที่อ่อนไหวตลอดเวลา ไม่พอใจเมื่อถูกขัดจังหวะ หรือเจอสถานการณ์ที่ไม่เป็นตามกิจวัตรของเขา วางตัวไม่ถูก พูดแต่สิ่งที่สนใจ ทุกคนครับ ก็ขอให้เข้าใจพวกเขา เนื่องจากสมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ พฤติกรรมบางอย่างก็ต้องค่อย ๆ ปรับ พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบนะครับ อดทน อดกลั้น อย่าใช้ความรุนแรงนะครับ


                ถ้าพูดถึงเรื่องการเรียน/การศึกษาของบุคคลออทิสติก พูดตามตรงเลยครับ สามารถเรียนกับบุคลปกติได้ครับ เพียงแต่การเรียนและหลักสูตรต้องเหมาสมกับพวกเขาเพียงพอ มีการสอนเสริมในวิชาที่เด็กสนใจและไม่ถนัด มีการฝึกในเรื่องของทักษะการพูด,ทักษะทางสังคม,ทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น,ทักษะการดำรงชีวิต,ทักษะการเคลื่อนไหว,ทักษาะเสริมพัฒนาการ แต่ถ้าหากเด็กคนไหนที่เป็น Tier-3  หรือ 2- ก็ให้ศูนย์การศึกษาดูแล แต่หากเป็น Tier-2+,Tier-1 หรือสังเกตง่าย ๆ คือพอพูดได้(ติด ๆ ขัด ๆ ไม่เป็นไร) พอฟังคำสั่งง่าย ๆ ได้ พอเล่นของเล่นได้ ทานข้าว/ล้างมือ ดื่มน้ำเองได้ อ่าน/เขียนได้บ้าง ให้เด็กเรียนในโรงเรียนทั่วไปเถิดครับ และอยากให้ฝึกเด็ก ๆ เรื่องของการเข้ากับเพื่อน เสริมสร้างพัฒนาการ ทักษะสังคม ทักษะการพูด ทักษะดำรงชีวิต และถ้าอยู่ในระดับมัธยมแล้ว อย่าปิดกั้นเด็กเลยครับ ควรประเมินที่ความสามารถเด็ก+สัมภาษณ์ผู้ปกครอง จากนั้นให้เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ และสอนเสริมในสิ่งที่เด็กบกพร่องและมีปัญหา เสริมทักษะความรู้/ความสามารถให้เด็กพัฒนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด พร้อมทั้งเปิดโอกาสพูดคุยอย่างใกล้ชิดครับ 

                    เรื่องของการดำรงชีวิต ผมมองว่า ครอบครัวคือสิ่งที่สำคัญที่สุด..เพราะครอบครัวคือคนที่เข้าใจพวกเขาที่สุด แต่ถ้าหากไม่มีใครดูแลแล้วล่ะ ควรจะทำอย่างไร ในความรู้สึกผมนะ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาที่อยู่ และมีพี่เลี้ยงคอยดูแลตามสถาพความเป็นอยู่ของแต่ละคน แต่ถ้าเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะสนับสนุนการดำรงชีวิตอิสระแก่พวกเขา โดยจะมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง มีเพื่อน ๆ อยู่เคียงข้าง มีระบบในการทำกิจกรรม และการให้คำปรึกษา ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีกิจกรรมให้ทำ อาทิ ท่องเที่ยว,ทักษะสังคม,ทักษะการทำงานเป็นทีม,การฝึกทักษะ,ทำ workshop ในสิ่งที่สนใจ, ดนตรี/ศิลปะ,การไปเข้าค่าย เป็นต้น การที่จะอยู่ร่วมกันกับบุคคลออทิสติกได้นั้น ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ คุย ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ผมอยากจะฝากอย่างหนึ่งนะครับ 


" อันนี้ผมขอร้องนะครับ ผมขอให้ทุก ๆ คนใช้เหตุผล 

มีอะไรก็ค่อย ๆ พุด ค่อย ๆ จากัน อย่าใช้อารมณ์ 

ถ้าใช้อารมณ์ ทุกอย่างก็จะมีแต่พังลงมา 

อยากให้ทุกคนใจเย็น ๆ กันนะครับ "


                ผมหวังว่าสังคมจะจริงใจกับบุคคลออทิสติกมากกว่านี้ อยากให้สังคมอยู่เคียงข้างพวกเขา ขอฝากทุก ๆ คนครับ


อยากจะฝากอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้  

                 ผมจะฝากถึงทุก ๆ คน ทั้งคนที่เป็นเพื่อนใน Facebook หรือไม่ได้เป็นเพื่อนก็ตาม ทั้งคนที่เข้ารับและไม่ได้เข้ารับปริญญา หากใครที่วางตัวไม่ถูก ผมขอแนะนำ 7 ข้อ ที่อยากฝากทุก ๆ คน ในเรื่องของบุคคลออทิสติก และการอยู่ร่วมกัน แน่นอนว่าคนเราพบกันก็ต้องจากกันนั้นเป็นเรื่องปกติ ทุกคนมีภาระหน้าที่ ทุกคนก็เหนื่อย ทุกคนอยากมีงานที่ดี เงินที่ดี ชีวิตที่ดี แต่ขอให้เปิดใจกับบุคคลออทิสติกและพวกผมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ

                1. ขอให้ทุกคนจริงใจและอยู่เคียงข้างบุคคลออทิสติกให้มากกว่านี้ จะบอกว่า บุคคลออทิสติกก็ไม่ต่างจากคนปกติเท่าไรหรอกครับ เขาก็ต้องการมีเพื่อน ต้องการท่องเที่ยว ต้องการทำสิ่งต่าง ๆ เหมือนคนปกติ ต้องการความรัก ต้องการคนที่เข้าใจ ต้องการที่จะอยู่ในสังคมได้ เพี่ยงแต่สภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้ออำนวยมากพอ และไม่รู้ว่าจะวางตัวอย่างไร ดังนั้น ถ้ามีอะไรก็ค่อย ๆ พูด พูดด้วยเหตุผล ค่อย ๆ เทำความเข้าใจ ลองสังเกตดูว่าวันนี้เขาเป็นอย่างไร มีอะไรอยากจะคุยหรือเปล่า มีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า และสิ่งที่สำคัญคือ ขอให้จริงใจ ดูแล และอยู่เคียงข้างเขาตลอดไป เพื่อที่จะปูทางให้พวกเขาได้อยู่ในสังคมได้ดังคนปกติ เพียงแต่ต้องให้เวลาและต้องดูแลเขาเป็นพิเศษครับ

                2. ลดอคติ แต่มองจุดเด่นของเขา อันนี้ผมขอร้องทุกคนเลยนะครับว่าอย่าอคติเพียงแค่ว่าการแสดงออกไม่เหมือนกันกับผู้อื่น อย่าอคติเพียงแค่เขาทำอะไรไม่ถูก หรือวางตัวไม่ถูก แต่ขอให้ศึกษาตัวตนของเขาให้มากที่สุด คอยสังเกตบ่อย ๆ ว่าเขาชอบอะไร ชอบทำอะไร ชอบคุยเรื่องอะไรได้บ้าง และเอาสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดและความสามารถพิเศษมาแสดงความสามารถ อีกทั้งต้องหาพื้นที่ในการแสดงออกแก่พวกเขาด้วยนะครับ ยกตัวอย่างเช่น (สมมุตินะครับ) เราชอบคุยเรื่องเพลงเก่า ๆ และฟังเพลงเก่า ๆ ก็ลองคุยเรื่องนี้ แล้วเล่าให้ฟัง และหาเวลาฝึกซ้อมและร้องเพลงด้วยกันบ่อย ๆ นะครับ แต่ถ้าไม่ได้ชอบคุยในเรื่องที่พวกเขาสนใจ ก็ขอให้ทำเหมือนหมากรุก ที่ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ คือสลับการคุย และถาม-ตอบ ในสิ่งที่แต่ละคนสนใจ และหาช่องทางในการพัฒนาศักยภาพพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

                3. ลองพูดคุยและทำความเข้าใจกับเขาให้มาก ๆ เรื่องนี้สำคัญนะครับ ลองให้เขาได้มีโอกาสพูดคุยกัน ได้มีการเล่าเรื่องให้เข้าใจกัน เพราะการที่มีโอกาสได้คุยถือเป็นการสรา้งพื้นที่ให้บุคคลออทิสติกได้แสดงออกและเป็น safe zone สำหรับพวกเขาไปในตัว บุคคลออทิสติกไม่ใช่ว่าไม่อยากคุยนะครับ แต่โอกาสไม่ได้มีมากพอ ทุกคนครับ หากมีโอกาสควรมาพูดคุยกับพวกเขาเยอะ ๆ นะครับ เพราะบุคคลออทิสติกต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ คุ้นเคยกับสิ่งต่าง ๆ และต้องมีความต่อเนื่องเพื่อให้โอกาสแก่บุคคลออทิสติกได้อยู่ในสังคมดังคนปกติ และค่อย ๆ ศึกษะทั้งนิสัย ความชอบ สิ่งที่ถนัด ความสามารถพิเศษ และสังเกตว่าเขาทำอะไรได้ ทำอะไรแล้วมีความสุข และให้ต่อยอดตรงนั้น และที่สำคัญต้องมีเบอร์โทรศัพท์ผู้ปกครอง หรือครอบครัวของเขาด้วยนะครับ เพราะถ้ามีปัญหาหรืออะไรเกิดขึ้นจะได้แก้ปัญหาร่วมกันได้ และผู้ปกครองก็จะให้ข้อมูลของเด็ก และช่วยเหลือพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

                4. เปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมเชื่อว่าบุคคลออทิสติกต้องการทำกิจกรรมและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ อันนี้ขอร้องเลยนะครับ อย่าปิดกั้นพวกเขาเลยครับ อยากให้เพื่อน ๆ ได้มีโอกาสพาบุคคลออทิสติกสู่โลกภายนอกบ้าง อาทิ พาเที่ยวชุมชน,คาเฟ่ฮิต ๆ ,ดูหนัง,พาไปทำอะไรสนุก ๆ แต่อย่าไปสถานที่อโคจร และอย่าไปตอน 2 ทุ่ม - 6 โมงเช้านะครับ ผมต้องการให้สังคมอยู่ร่วมกันกับคนปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมอยากให้คนปกติได้ออกสู่โลกภายนอก แต่ท่านต้องบอกผู้ปกครองหรือครอบครัวเขาก่อนนะ พาเขาไปอ่านหนังสือ,เดินเล่น ขอให้ใจเย็น อดทน และใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน ถ้าทำได้ ครอบครัวก็เริ่มที่จะหายห่วง และเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้สังคมได้มีโอกาสอยู่ร่วมกันกับบุคคลออทิสติกต่อไป 


"ลองพาเขาออกไปข้างนอกบ้าง อย่าปล่อยให้เขาอยู่แต่ในบ้านเลยครับ "


                5. พูดคุยกับครองครัวของเขาอย่างสม่ำเสมอ การที่จะอยู่ร่วมกันกับบุคคลออทิสติกเป็นนั้น คือต้องคุยกับผู้ปกครองและครอบครัวเขาอย่างสม่ำเสมอ ทำไมถึงต้องทำแบบนั้น คำตอบคือ ครอบครัวคือคนที่ใกล้ชิดเขามากที่สุด เพื่อให้ทราบว่าเด็กเขาเป็นอย่างไร นิสัยอย่างไร อยู่ด้วยกันแล้วเป็นไงบ้าง ทำไมถึงมีนิสัยแบบนี้ ที่สำคัญคือจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน ต้องหาวิธีในการพัฒนาศักยภาพ ปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และหาวิธีในการสื่อสารได้ดีขึ้นอีกด้วย


"การพูดคุยกับคนในครอบครัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจบุคคลออทิสติกได้ดีกว่าไปคุยกับเขาเอง เพราะครอบครัวจะเข้าใจเขามากกว่าคนอื่น และจะสื่อสารได้ดีกว่าไปคุยกับเขาเอง ครอบครัวจะเป็นคนที่เข้าใจที่สุด อยู่ร่วมกันมามากที่สุด คลุกคลีมากที่สุด การพูดกับครอบครัวช่วยให้เข้าใจตัวตนของเขา เพราะครอบครัวจะเป็นล่ามในการพูดคุยกับคนในสังคม เพื่อให้เข้าใจลูกหลาน ว่าหลานเป็นออทิสติก และครอบครัวคือสะพานที่เชื่อมโยงบุคคลออทิสติกกับสังคมได้ดีที่สุดนั่นเองครับ"


                อีกอย่างนะครับ หากบุคคลออทิสติกมีปัญหา หรือติดขัดอะไร ครอบครัวจะต้องหาวิธีการรับมือ วิธีการดูแล วิธีการเข้าหา เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หากสงสัยอะไรเกี่ยวกับบุคคลออทิสติก คนที่ตอบได้ดีที่สุด คือครอบครัวของเขานั่นเอง

                6. ส่งเสริม,สนับสนุน,ดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด บุคคลออทิสติกจะมีความรู้ ความสามารถที่พิเศษกันทั้งนั้นเลยทีเดียวครับ แต่สังคมยังไม่ให้โอกาสเพียงพอ และยังไม่ให้พื้นที่แก่พวกเขาสักเท่าไรนัก ทุกคนครับ บคุคคลออทิสติกมีความรู้ ความสามารถ ไม่ต่างจากคนปกติเลยครับ ผมขอให้ส่งเสริมและสนับสนุนในสิ่งที่เขาสนใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เทรนพวกเขาในสิ่งที่เขาชอบ และดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด มีโอกาสก็พาเขาไปข้างนอกบ้าง มีโอกาสขอให้พูดคุย ไม่สบายใจก็ขอให้พูด จะร้องไห้ก็ระบายเลยครับ หน้าที่คือรับฟัง และเป็น safe zone แก่พวกเขา อีกทั้งต้องหาช่องทางให้พวกเขาได้มีโอกาสแสดงศักยภาพออกมาน อกจากจะต้องดูแล/ส่งเสริม/สนับสนุนแล้ว ยังต้องช่วยปรับเขาในเรื่องของการสื่อสาร,พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม,การเข้าสังคม,การวางตัว,การปรับตัวเมื่ออยู่ในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย,การดำรงชีวิต เพื่อให้พวกเขาได้พัฒนาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และสรา้งงาน สรา้งรายได้โดยที่ไม่ต้องแบบมือของเงินผู้ใหญ่อีกด้วยนะครับ 

                7.ใจเย็น,อดทน,อภัย,เมตตา,เข้าใจเขาให้มากที่สุด การอยู่ร่วมกันกับบุคคลออทิสติกนั้น 5 คำนี้สำคัญ เพราะอะไรจะขออธิบายเป็นคำ ๆ นะครับ

                    ใจเย็น ถ้ามีคำว่าใจเย็น เวลาที่บุคคลออทิสติกมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ หากใจเย็นและค่อย ๆ พูดออกมา อารมณ์ของเขาก็จะนิ่งขึ้น และการพัฒนาพวกเขา สามารถพัฒนาได้ แต่อาจจะช้านิดนึง ก็ขอให้ใจเย็น และคิดเสมอว่า "สักวันเขาจะพัฒนาได้"

                    อดทน เรื่องนี้สำคัญนะครับ ต้องมีความอดทนเมื่อเขาทำอะไรที่ไม่พึงประสงค์ และค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ อธิบาย ค่อย ๆ ตักเตือน และรอดูสิ่งที่ดีขึ้นจากพวกเขาได้เลยครับ ต้องติดตามเขาอยางใกล้ชิต ถ้าเขาแรงก็อย่าตอบโต้ ควรปล่อยให้นิ่ง แล้วค่อยพูดคุยครับ

                อภัย ทุกคนก็ทำผิดพลาดทั้งนั้นนะครับ ไม่เว้นแม้แต่บุคคลออทิสติก คำว่าอภัยคือสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันกับพวกเขา หากสิ่งใดที่ทำผิดพลาดในกรณีที่แบบว่าเขาวางตัวไม่ถูก ทำไม่ถูก หรือไม่เข้าใจ ให้อภัยเถิดครับ และพูดคุยกันด้วยเหตุและผลครับ

            เมตตา ความเมตตาถือว่าสำคัญนะครับ ทุกคนควรที่จะเมตตาบุคคลออทิสติกให้มากที่สุด  แน่นอนว่าทำผิดพลาดกันได้ หากเมตตากันและกันบุคคลออทิสติกก้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ และเป็น safe zone สำหรับบุคคลออทิสติกไปในตัวครับ

                เข้าใจ การทำความเข้าใจในตัวพวกเขา บริบทของเขา นิสัยของเขา ความเป็นอยู่ของเขา ชีวิตและสิ่งที่ชอบของเขา คือกุญแจสำคัญในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลออทิสติก และทำให้บุคคลออทิสติกได้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข และอยากให้เปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้เข้าใจคนอื่น และเข้าใจซึ่งกันและกัน พวกเขาก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขครับ

                    7 ข้อนี้ ผมอยากจะฝากทุก ๆ คน ให้ปฏิบัติกับผมและบุคคลออทิสติกทุก ๆ คน ผมเชื่อว่าสังคมจะไม่ใจร้ายมากเกินไป ขอให้ช่วยกันดูแลพวกเขาเถิดครับ และก้าวไปพร้อมกันกับบุคคลออทิสติกทุกคน รวมทั้งผมด้วยนะครับ ทุกคนครับ ถึงผมจะเป็นบุคคลออทิสติก ผมก็สามารถเรียนจบ รับปริญญา มีงานทำ ออกมาอยู่ในสังคมได้ ผมจะบอกว่า 


"ทุกอย่าง..ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่

ไม่มีอะไรที่ได้มา..โดยที่ไม่ผ่านการต่อสู้นะครับ"


                สุดท้าย ขอขอบคุณทุกคนที่สละเวลามาอ่าน  ขอบคุณทุกอย่าที่พบเจอ แม้จะโหดร้ายก็ตาม ขอบคุณตนเอง ขอบคุณทุก ๆ คนที่ให้โอกาส ขอบคุณทุกคนที่เป็นทั้งของขวัญและบทเรียน ขอบคุณที่ทำให้ผมมีวันนี้ ในซี่รี่ส์ "เรื่องเล่า และความในใจวันรับปริญญาของผม" ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้นะครับ แล้วพบกันใหม่ ขอบคุณครับ


สรุป & ทิ้งท้าย

                เรื่อง "เรื่องเล่า และความในใจวันรับปริญญาของผม" ได้เล่าถึงสิ่งต่าง ๆ ทั้งวันซ้อมรับปริญญา,วันรับปริญญา,กว่าจะมีวันนี้ได้ ทำได้อย่างไร,เรื่องราวของเรา,ขอบคุณบุคคลที่เกี่ยวข้อง, อยากฝากอะไรแก่สังคม ผมตั้งใจจะถ่ายทอดว่าการที่จะมีวันนี้ต้องเจออะไรบ้าง และเรื่องที่อยากจะเล่าให้ฟัง  ส่วนตัวคือต้องขอขอบคุณทุกคนที่สละเวลามาอ่านนะครับ ขอบคุณครอบครัวที่ทำให้ผมมีวันนี้  และสิ่งที่อยากจะบอกคือ


" โอกาส..สามารถพลิกจากสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ให้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอ "


            ผมก็ได้เล่าเรื่องมามากแล้ว การรับปริญญาครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในชิวิตของผม ผมมีโอกาสนี้เพียงไม่กี่ครั้งในชีวิตเท่านั้นเอง แต่อีกมุมหนึ่ง ถือเป็นก้าวเล็ก ๆก้าวหนึ่งในชีวิตของผมเท่านั้นเอง ความเป็นจริงชีวิตของเราต้องเจอและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อีกยาวไกลเลยล่ะครับ ประสบการณ์ของแต่ละคนไม่ได้หาได้โดย  "ใบปริญญา" เท่านั้น แต่ "ใบปริญญา" คือสิ่งหนึ่งที่การันตีว่า "เราจบแล้วนะ" เราก็ได้พิสูจน์ว่าเป็นออทิสติกเราก็ทำได้ แน่นอนว่า "ทักษะสังคม","ทักษะชีวิต" ไม่ได้หาได้ด้วยใบปริญญา แต่เราต้องเรียนรู้ ขวนขวาย ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง อะไรที่ทำได้ก็ทำให้ดีที่สุด อะไรที่ทำไม่ได้ค่อยว่ากัน ใบปริญญาไม่ใช่พรมที่จะปูทางสู่ความสำเร็จ แต่ถ้ามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พัฒนา เรียนรู้ เราก็สามารถทำให้สำเร็จได้ แต่ต้องใช้เวลาครับ อยากจะบอกคำ ๆ หนึ่ง ว่า 


" Nothing About us , Without us "


            แปลว่า อย่าทำอะไรเกี่ยวกับเรา โดยที่ไม่มีเรา ทุกคนครับ ถ้าจะทำอะไร ไม่ว่าเกี่ยวข้องกับใครก็แล้วแต่ ทั้งคนทั่วไป,ออทิสติก,LGBT,คนพิการ,คนด้อยโอกาส ก็ขอให้เขามีส่วนร่วม และจับมือไปด้วยกัน ผมก็ขอให้ทุกคนจริงใจ อยู่เคียงข้าง ดูแลซึ่งกันและกัน เรียนรู้ และก้าวไปด้วยกันกับผมและทุก ๆ คน ผมก็ขอขอบคุณทุกคนที่อ่านบทความนี้จนจบ ขอให้ทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง คิดสิ่งใดขอให้สมหวัง เจอแต่สิ่งดี ๆ อยู่เคียงข้าง ดูแลกัน การงานมั่นคง การเงินร่ำรวย หากมีโอกาสคงได้เจอะเจอกัน ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งคงได้เจอกัน บทความชุด "เรื่องเล่า และความในใจวันรับปริญญาของผม" ขอจบลงเพียงเท่านี้ ผมต้องขอลาทุก ๆ คนไปก่อน แล้วเราจะพบกันใหม่ ขอขอบคุณทุก ๆ คนนะครับ สวัสดีครับ


---------------------------------------------- จบบริบูรณ์ ----------------------------------------------




อัษฎากรณ์ ขันตี

22 พฤศจิกายน 2565

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 3)

ทักษะทางสังคมสำหรับบุคคลออทิสติก