เรื่องเล่า และความในใจวันรับปริญญาของผม (ตอนที่ 2)

 



            หลังจากที่ได้เล่าถึงงานวันซ้อมรับปริญญา และวันรับปริญญาแล้ว ผมจะเล่าถึงที่มา ว่าทำอย่างไรผมถึงมีวันนี้นะครับ
 
    การเรียน

ปี 1 - 3 ผมจำได้ว่าสอบติดที่สวนดุสิต แต่ต้องการเรียนใกล้บ้าน เลยมาเรียนที่ราชภัฏเพชรบุรีแทน ผมจำได้ว่าผมมาสมัครเรียนเป็นคนสุดท้าย ผมมาสมัครเรียนแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ต่อมา ผมก็ปฐมนิเทศ และเรียนปี 1 จำได้ว่าปีนั้นไม่มีการรับน้อง แต่พี่ที่ดูแลผมก็ดูแลได้เป็นอย่างดี ผมก็เรียนบ้าง เล่นบ้าง ผมจำได้ว่าผมเขียนโปรแกรมแทบจะไม่เป็นเลยในตอนนั้น ต้องให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ ช่วยตลอด พอตกปีสองวิชาก็ยากขึ้น ผมก็ยังไม่เป็นต่อไป เมื่อมาถึงปี 3 ผมก็เจอวิชายาก จนต้องเลื่อนการสอบ เนื่องจากไม่สบายครับผม ปี 1- ปี 3 ผมแทบจะไม่เป็นเลย ท้อแท้มาตลอด

ปี 4-6 เนื่องจากว่าผมเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง และยังปรับตัวเข้ากับเนื้อหาไม่ค่อยได้ ส่งผลให้ผมทำโปรเจคช้านิดนึง ตอนแรก ๆ ต้องให้รุ่นพี่เทรนให้และทำให้มาตลอด ต่อมา จากการที่อาจารย์ที่ปรึกษาเรียกสติ ทำให้ผมต้องพิจารณาตนเอง และค่อย ๆ ฝึก ค่อย ๆ ถืบตนเองมาตลอด จนค่อย ๆ ทำเป็น แม้ว่าจะช้ากว่าเพื่อน สุดท้าย ผมก็รับปริญญาพร้อมเพื่อนได้ในที่สุด ผมก็เรียนจบเมือเดือนกันยายน 2563 ครับผม 

    การเข้ากับเพื่อน อันนี้จะเล่าโดยภาพรวมนะครับ ผมต้องยอมรับตรง ๆ ว่าผมมีปัญหาในการเข้ากับเพื่อน เข้ากับสังคม การวางตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเสียทีเดียว ผมมีเพื่อนที่ค่อยดูแล เอาใจใส่ และได้คุยกันบ้าง เป็นครั้งครา แต่บางที ผมจะอารมณ์ร้อน หุนหันพลันแล่นเกินไป ทำให้เกิดปัญหา ดรามา และทะเลาะกันในบางครั้ง ในภาพรวมถือว่าค่อย ๆ พัฒนาขึ้น แต่ต้องปรับปรุงในเรื่องของบริบททางสังคม และความเข้าใจผู้อื่น





    

    ไลฟ์สไตล์ ของผมนะครับ เวลาว่าง ๆ ผมจะชอบไปคุยที่กองพัฒนานักศึกษา ทำไมผมถึงชอบไปอยู่ตรงนั้น เพราะว่าพี่ ๆ ในกองพัฒนานักศึกษามีความกันเองกับผมมาก เจอกันก็พูดคุย ทักทาย ทำให้ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปหา ทำให้วันที่เครียด ๆ กลับมายิ่งอย่างร่าเริง อีกทั้งได้มีโอกาสหยอกล้อผม และทำความเข้าใจกับผมไปในตัว ว่าง ๆ ผมจะไปร้องเพลงให่พี่ ๆ ฟังอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งต้องมีลีลา ท่าเต้น ได้ระบายความรู้สึกและน่ารักไปในตัวครับ
        
        เวลาทานข้าว ผมจะมักไปกินคนเดียวบ้าง กินกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ บ้าง ผมจะมีร้านในด้วงใจอยู่ 3 ร้าน ร้านแรกคือร้านปังเย็น ร้านที่สองคือร้านข้าวมันไก่ที่โรงอาหาร ร้านที่สามคือร้านข้าวผัดกะเพราที่หลังอาคารราชพฤกษ์ ผมจะชอบคุยเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ทั้งชีวิต เพลงเก่า ออทิสติก ว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง เป้นอย่างไรบ้าง ไม่สบายใจอะไรหรือเปล่า ถือเป็นสีสันที่ผมได้เจอเลยทีเดียวครับผม อีกสถานที่หนึ่งที่ผมชอบไปคือห้องสมุด เพราะผมจะชอบดูหนังสือ ชอบอ่านหนังสือ แนวหนังสือที่อ่านมีหลากหลายแนว อาทิ ไอที การท่องเที่ยว นิยาย ประวัติศาสตร์ ความรู้ทั่วไป พัฒนาตนเอง และอีกหลาย ๆ แนวครับผม บางครั้งผมก็นั่งทำงานและเขียนหนังสือที่ห้องสมุดเลยครับ 
        
        ผมจะนั่งประจำช่วงแรก ๆ จะอยู่ที่ตู้ปลา อาคาร 3 ตอนหลัง ๆ จะอยู่ที่อาคารราชพฤกษ์ ห้อง Start-up ชั้นล่างครับผม ผมก็มักจะทำงาน ทำการบ้าน และทำโปรเจคครับผม พอเป็นช่วงของ Covid-19 ผมก็ย้ายมาทำที่บ้าน จนจบการศึกษาในอีกครึ่งปีต่อมา  









    







ปัญหา-อุปสรรค
       ปัญหาของผมที่ผมอยากจะเล่าตอนที่เรียนในมหาวิทยาลัย มีทั้งหมดที่สำคัญ อยู่ 5 ข้อ ดังนี้
       1.ขาดความเข้าใจในการเรียน อันนี้ถือเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ผมเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง จริง ๆ ผมอยากที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนนะครับ แต่ต้องใช้เวลามากหน่อย ผมก็เหม่อไปบ้าง หลับบ้าง สุดท้ายอาจารย์ต้องเรียกสติจึงจะค่อย ๆ เข้าใจครับ
        2.ขาดความเข้าใจในเข้าสังคม เรื่องนี้ถือเป็นจุดบกพร่องอย่างหนึ่งของผม ผมยอมรับตรง ๆ ว่าผมยังเข้าใจกฎสังคมและบริบททางสังคมได้ไม่มากพอ ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าปฏิบัติตัวอย่างไร วางตัวอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ และยังขาดความเข้าใจว่า คนที่ไปคุยด้วย เขาพร้อมจะฟังไหม เขาว่างหรือเปล่า เป็นต้น
        3.การวางตัว ผมมีปัญหาในการทำความเข้าใจเรื่องสถานการณ์ที่ยืดหยุ่น และการวางตัวเมื่อเกิดสถานการณ์นั้น ๆ อีกทั้งไม่ค่อยที่จะได้รับคำอธิบายที่ผมสามารถเข้าใจได้สักเท่าไร ทำให้ผมมีปัญหาในการวางตัวที่ส่งผลต่อการเรียนและการเข้าสังคมในมหาวิทยาลัย
        4.วอกแวกง่าย ขอยอบรับตรง ๆ ว่าจริงครับ ช่วงเรียนในขณะนั้นผมยังไม่ค่อยเข้าใจในบทเรียนสักเท่าไร ความคุมตนเองไม่ค่อยได้ ลุกออกจากห้องบ่อย ๆ 
        5.อารมณ์-พฤติกรรม จริง ๆ ผมยอมรับว่าเคยขึ้นกับบางคน เคยทุบตีตนเอง อีกทั้งมีปัญหาด้านการจัดการอารมณ์-ควบคุมอารมณ์ จนทำให้ผมเข้ากันกับหลาย ๆ คนได้ไม่ค่อยดีนัก

    แนวทางการพัฒนาตนเองช่วงที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย

       1.ใจเย็น ๆ ลง ข้อแรกผมต้องทำตัวให้ใจเย็น ๆ ลง ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ นึก ว่าสิ่งที่ทำถูกต้องหรือไม่ ทำแบบนี้ถูกหรือเปล่า ทำแบบนี้สมควรหรือไม่ หากอารมณ์ไม่ดีก็พยายามที่จะกดอารมณ์ให้มากที่สุด หรือทำอะไรก็ได้ที่ทพให้สบายใจมากขึ้น โดยที่ไม่กระทบกับคนอื่น
        2.ฝึกฝนมากขึ้น แน่นอนว่าเราต้องฝึกฝน ตอนแรก ๆ ไม่เข้าใจไม่เป็นไร แต่ต้องลองผิดลองถูก ลองฝึกฝน ถ้าทำได้ก็จะเกิดความภาคภูมิใจครับผม
        3.เข้าหาอาจารย์ แน่นอนเลยครับข้อนี้ หากติดขัดตรงไหนหรืออย่างไรคนที่จะให้คำปรึกษาดีที่สุดคืออาจารย์ เรื่องนี้สำคัญมากครับ
        4.ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ แน่นอนว่าต้องทำความเข้าใจ..และใช้เวลาที่จะผ่านจุดนี้มาได้

    จะเห็นว่าทุกคนมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกันในแต่ละคน สัปดาห์หน้า (ตอนที่ 3) จะเล่าถึงความรู้สึกส่วนตัว และขอบคุณบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับผมทุก ๆ คน ในวันที่ 29 ตุลาคม สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ







อัษฎากรณ์ ขันตี
22 ตุลาคม 2565


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 3)

ทักษะทางสังคมสำหรับบุคคลออทิสติก