รางวัลคนพิการต้นแบบประจำปี 2564

 รางวัลคนพิการต้นแบบประจำปี 2564 

อัษฎากรณ์ ขันตี



        
    
       
(เพิ่มเติมเนื้อหามาจาก https://web.facebook.com/aussadakorn/posts/4621294881301450?notif_id=1642175103251202&notif_t=feedback_reaction_generic&ref=notif)
        
        บทความนี้นะครับ เป็นการเพิ่มเติมเนื้อหามาจากลิงก์ข้างบน ซึ่งในวันนี้ ผมจะเล่าถึงความในใจ และความรู้สึกฉบับเต็มนะครับ ในบทความนี้ เป็นบทความที่ผมตั้งใจจะเล่าแบบจริง ๆ เกี่ยวกับความรู้สึกผองผมที่ได้รับรางวัลคนพิการต้นแบบในปี 2564 

        ผมเป็นคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กต่างจังหวัดแท้ ๆ ที่มีภาวะออทิสติก ผมได้ใช้ชีวิตกับคุณปู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ผมมีความตั้งใจมาตลอด ว่า ผมจะนำพาให้บุคคลออทิสติก มีที่ยืนในสังคมอย่างสง่างามเหมือนบุคคลปกติทั่วไป อยากจะให้บุคคลออทิสติกได้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ อยากจะมี community ที่เปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ผมก็เป็นเด็กต่างจังหวัดธรรมดา แต่มี mindset ที่ไม่ธรรมดา บุคคลออทิสติกมักจะมีปัญหาทางการสื่อสาร การเข้าสังคม และพฤติกรรมซ้ำ ๆ แต่ทราบไหมครับ ว่าบุคคลออทิสติกมีความสามารถที่ไม่ธรรมดา เช่น วาดภาพ ทำคอม คำนวณ เล่นดนตรี และมีอื่น ๆ อีกมากที่มิได้กล่าวถึง 

        ในวัยเด็ก ผมก็เป็นคนที่กลัวความมืด โมโหง่าย ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว อยากจะมีเพื่อน จากวันนั้น จนมาถึงวันนี้ ไม่ได้ง่าย ๆ เลยนะครับ ผมได้ผ่านทั้งการไม่ยอมรับ การไม่เข้าใจกัน การถูกรังแก ถูกมองว่าเป็นตัวตลก ถามว่าผมรู้สึกอย่างไร ผมก็ร้องไห้มานักต่อนัก ไม่สบายใจ ท้อแท้ ผมอยู่กับความไม่เข้าใจตรงนี้มาหลายปีตลอด จนผมนึกได้ว่า มันต้องใช้เวลาที่สังคมจะยอมรับพวกเรา และมันคือพลังที่จะทำให้เราเข้มแข็ง และต่อสู้ จากเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง ขี้โมโห ชอบตบมือ แต่หารู้ไหมว่า ผมได้เรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีงานทำที่มูลนิธิออทิสติกไทย และได้รับคนพิการต้นแบบประจำปี 2564 
เป็นที่เรียบร้อย 

        

      "ผมไม่ใช่คนพูดเก่ง ประจบใครไม่เป็น แต่สิ่งหนึ่งที่มี คือความรัก ความบริสุทธิ์ ความจริงใจ และพร้อมจะเป็นมิตรต่อกัน 

          "ผมไม่อาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับใครมากมาย แต่ต้องการให้มีสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง เพื่อให้ผมได้สามารถใช้ชีวิตได้ดังคนปกติ "

          "ผมไม่ได้ต้องการที่จะเรียกร้องความสนใจ แต่ต้องการให้สังคมยอมรับและเข้าใจพวกผมให้มากขึ้น และต้องการที่จะเปิดทางให้พวกผมได้เป็นเพื่อนที่ดีด้วย"

          "ผมไม่ได้อยากที่จะยุ่งหรือวุ่นวายกับพวกท่าน แต่ขอโทษที่ผมอาจจะทำลงไป เพราะผมมีความจำเป็นจริง ๆ ความจำเป็นที่ว่าคือ..ต้องการที่จะพิสูจน์ว่าผมสามารถมีเพื่อนเป็นคนปกติได้"

            "ผมพยายามที่จะเป็นเพื่อนที่ดี ผมพยายามแล้วจริง ๆ แต่วางตัวไม่ทุก เพื่อน ๆ ช่วยจูนให้ผมหน่อยก็แล้วกัน"

            เป็นประโยคที่มักก้องอยู่ในใจผมเสมอ และเป็นประโยคที่ผมยังใช้อยู่จวบจนทุกวันนี้ เป็นประโยคที่ผมอยู่ในสายเลือดแทบจะ 24 ชั่วโมงเลยทีเดียวก็ว่าได้ ที่ผมเล่าประโยคพวกนี้ เพราะอะไร ผมอยากให้สังคมได้รับรู้ เข้าใจบุคคลออทิสติก และการบ้านที่ผมมอบให้ท่านเสมอคือการหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกันกับบุคลลออทิสติกได้อย่างมั่นคงและมีความสุข ผมไม่อยากจะได้อะไรที่มากกว่านี้จริง ๆ ท่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผมทุกตัวอักษร แต่ขอให้ท่านช่วยกันสร้างอนาคตที่ดีให้กับบุคคลออทิสติกได้ไหมครับ ถ้าได้ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง ท่านพร้อมก้าวไปกับพวกผมรึยังครับ ส่วนพวกผม พร้อมเสมอครับ



 
        เรื่องนี้จริง​ ๆ​ อยากจะเล่านานแล้ว​ แต่ไม่ค่อยมีเวลาสักเท่าไร​ ผมได้โล่รางวัลคนพิการต้นแบบประจำปี​ 2564​ ผ่านทางไปรษณีย์​ ผมได้เข้าร่วมงานวันคนพิการสากลเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เป็นการรับชมถ่ายทอดสfการรับรางวัลแบบออนไลน์ ผมไม่คาดคิดว่าวันนี้จะมีจริง ๆ อีกทั้งยังรู้สึกว่าเร็วเกินไป​ที่ผมจะได้รับรางวัลนี้ด้วยซ้ำ​ แต่ผมรู้สึกดีใจจริง​ ๆ​ ที่ได้รับรางวัลนี้ ผมนั่งทบทวนเสมอ ว่าวันที่ได้โล่ จะไม่มีจริง สิ่งหนึ่งที่ผมมี คือความมุ่งมั่น พยายามฝ่าฟันปัญหา และพยายามที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา ผมผ่านทั้งปัญหา​การเรียน​ ถูกรังแก​ สภาพแวดล้อม​ที่ไม่เอื้ออำนวย​ แต่สุดท้ายผมก็ยืนหยัดมาได้จนวันนี้จากสิ่งที่คิดว่าจะไม่ได้ให้กลายเป็นสิ่งที่ได้ในวันนี้ คือโล่รางวัลคนพิการต้นแบบ ประจำปี 2564
        
        ชีวิตการทำงานของผมมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในเรื่องของงานสำนักงาน ถอดเทปการประชุม ทำกราฟิก เขียนโปรแกรม ออกงานนอกสถานที่ แก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ถามว่ามีท้อแท้หรือทุกข์ใจไหม ก็มีบ้าง แต่ผมก็สามารถเป็นแรงที่จะทำให้เราแกร่งขึ้น และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสง่างาม นอกจากนี้มีการออกงานนอกสถานที่ ผมไปมาแล้วทั้งกระทรวงแรงงาน ตึกใบหยก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และดินเนอร์ที่สามเสนวิลล่าครับ
      












​ นอกจากนี้นะครับ ยังร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคคลออทิสติกด้วยนะครับ ด้วยการสอนคอมพิวเตอร์ให้เพื่อน ๆ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองบุคคลออทิสติก สิ่งเหล่านี้ผมก็คิดในใจเสมอว่า "จริง ๆ มันไม่ได้มีอะไรมากหรอก แค่เรารู้สึกว่าอันไหนที่เราเก่ง อันไหนที่เรารู้ อันไหนที่เราทำได้ ก็อย่าหวงความรู้สิ ไปสอนคนที่ยังทำไม่ได้หรือไม่เข้าใจจะดีกว่า" ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมได้พัฒนาคนอื่น และก็พัฒนาตนเอง และผมก็มีความสุขที่จะได้มาอยู่ตรงนี้ ผมได้ถ่ายทอดความรู้เสมอผ่าน facebook/blogspot อย่างต่อเนื่อง ผมได้ call out เรื่องของออทิสติกอย่างสม่ำเสมอ ผมมีผลงานทำกราฟิกหลายชิ้น และผมจะตั้งใจพัฒนาตนเองด้านเขียนโปรแกรม กราฟิก การเขียน และออทิสติกต่อไป และแล้วจึงเกิดความภาคภูมิใจ​ และเกิดความดีใจที่ได้เป็นคนพิการ​ต้นแบบในสังคม​อย่างแท้จริง รางวัลในครั้งนี้เป็นการบ่งบอกว่าเราประสบความสําเร็จ​ในระดับหนึ่ง​ เป็นเกียรติ​ประวัติที่สำคัญของชีวิต​ และที่สำคัญ​เป็นการเชิดชู​เกียรติ​เพื่อให้คนพิการสามารถ​มีชีวิต​ได้ในสังคม​ และเป็นต้นแบบที่ดีแก่สังคมตลอดไป รางวัลอาจจะได้ไม่นาน แต่รางวัลคือสิ่งที่การันตีว่านี่คือเกียรติประวัติของเรา รางวัลน่ะได้แป็ปเดียว แต่เกียรติประวัติจะคงอยู่ตลอดไป แม้ว่าผมจะได้รางวัลนี้แล้ว ผมก็จะต้องรักษาความดี และไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตนเอง และจะพัฒนาตนเองต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เราจะต้องเผชิญและผจญภัยกันอีกมาก แต่สิ่งหนึ่งจะไม่มีวันนี้ ถ้าขาด community ที่ให้โอกาสกับผมครับ




     ผมขอขอบคุณ​ทุก​ ๆ​ คน​ ทั้งในมูลนิธิ​อ​อทิสติ​ก​ไทย​ วงการออทิสติ​ก​ มหาวิทยาลัย​ราชภัฏ​เพชรบุรี​ โรงเรียน​อรุณประดิษฐ ญาติมิตรสนิททั้งหลาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มิได้เอ่ยนามอีกหลายคนที่ได้ดูแล​ ช่วยเหลือ​ เอาใจใส่​ จนทำให้ผมสามารถประสบความสำเร็จ​ในวันนี้ และที่ขาดไม่ได้คือ
ขอ​ขอบคุณ​ครอบครัว​ที่มอบความรัก​ ความห่วงใย​ ดูแล​ อบรม​ สั่งสอน​ และเสียสละจนทำให้ผมสามารถเรียนจบในระดับปริญญาตรี​ และได้ทำงานที่มูลนิธิ​อ​อทิสติ​ก​ไทย​ ผมรู้สึกว่าตนเองมาไกลเหลือเกิน​ แต่จะมาไกลไม่ได้ถ้าขาดกำลังใจที่อยู่รอบตัว หากผมทำอะไรไม่ดีหรือผิดพลาดตรงไหนผมก็ขออภัย ณ ที่นี้ด้วยภัยกันอีกมาก แต่สิ่งหนึ่งจะไม่มีวันนี้ ถ้าขาด community ที่ให้โอกาสกับผมครับ


     ขอขอบคุณ​กระ​ทรวงการพัฒ​นา​สังคม​และ​ความมั่นคง​ของ​มนุษย์​ที่​มอบรางวัลคนพิการ​ต้นแบบ​ประจำปี​ 2564​ ให้กับผมนะครับ​ ผมอยากจะบอกว่า​ คนพิการทุกคน​สามารถ​พัฒนา​ได้​ ถ้าลองเปิดใจ​ จะสามารถรับรู้ถึงความสามารถ​ ความรัก​ ความบริสุทธิ์​ และมิตรภาพบนสังคมที่หลากหลาย​ ผมอยากให้สังคมได้เปิดโอกาสให้คนพิการสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข​ อยากให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้​ สามารถดำรงชีวิตเหมือนคนทั่วไป​ได้​ สามารถ​เรียนรู้ซึ่งกันและกัน​ และเป็นบ่อเกิดของมิตรภาพ.. จนก้าวไปสู่​ Inclusive​ Society​ อย่างแท้จริง ผมอยากจะบอกกับทุก​ ๆ​ คนว่า "ความรัก.. เป็นสิ่งที่ทำให้คนพิการพัฒนาได้ ความรัก.. เป็นสิ่งที่ทำให้คนพิการอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ความรัก.. เป็นสิ่งที่สร้างอนาคต​แก่คนพิการ ความรัก.. เป็นการสร้างพัฒนา​การที่ดีขึ้น ความรัก.. เป็นสิ่งที่ทำให้คนพิการสามารถอยู่ในสังคมได้ ความรัก.. เป็น​สิ่งที่ทำให้คนพิการสามารถ​มีงานทำ​ พึ่งพาตนเองได้​ สุดท้าย ความรัก.. เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดพลัง​ และมิตรภาพ​อันงดงามโดยไร้การแบ่งแยก" ความใฝ่ฝันของผม คือการเปิด software house/book house ที่ดูแลโดยบุคคลออทิสติก ผมอยากจะให้บุคคลออทิสติกที่มีความรู้ด้านไอที เขียนโปรแกรม เขียนหนังสือ และหนอนหนังสือทั้งหลาย ได้มีโอกาสมาทำงาน และมีพนักงานเป็นบุคคลออทิสติกทั้งหมด มีคนปกติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ และหนอนหนังสือตัวจริงคอยดูแล มีครูที่รู้เรื่องออทิสติกเป็นพี่เลี้ยง อีกอย่างคือ ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมกับคนในสังคมที่หลากหลาย ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในการฝึกการอยู่ร่วมกัน และฝึกในการดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อให้สังคมเข้าใจบุคคลที่มีความหลากหลายมากขึ้น ผมอยากให้บุคคลออทิสติกมีอาชีพที่หลากหลาย มีความสามารถที่เปิดกว้างขึ้น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
        


        
        ในความรู้สึกนี้ ผมเหมือนกับว่า ผมรู้สึกว่ามาไกลเหลือเกิน ผมไม่คิดว่าเด็กต่างจังหวัดธรรมดาแบบผม สามารถได้รางวัลคนพิการต้นแบบ และได้มีงานมีการทำได้อย่างไร ผมก็ตอบในใจว่า เรามีจุดยืน เราตั้งใจ เรามุ่งมั่น หลาย ๆ ครั้งผมอาจจะปรับตัวไม่ถูก วางตัวไม่ถูก ก็ช่วย ๆ สะกิดหน่อยนะครับ และสะกิดก็ต้องพูดดี ๆ พูดด้วยเหตุผล ผมก็จะตั้งใจทำให้ดีขึ้น และผลของความมุ่งมั่น และพลังที่ทุกท่านส่งให้มากับผม ทำให้ผมมีวันนี้ และความภาคภูมิใจนี้ จะเกิดขึ้นตลอดไป มันอาจจะเร็วเกินไปในความรู้สึกผม แต่มันเป็นเวลาที่พอดีต่อใครหลาย ๆ คน ที่จะนำพาให้ผมมีวันนี้ และวันนี้ คือเกียรติประวัติที่จะอยู่ในใจ..ตลอดไป
"คนพิการต้นแบบ ประจำปี 2564"




       ขอขอบคุณ​ทุก​ ๆ​ อย่าง​ ขอบคุณ​ที่ตนเองมีความตั้งใจ​ มุ่งมั่น​ พยายาม​ แม้ว่าจะมีบางครั้งที่ผิดพลาด​ และล้มเหลว​ ขอบคุณที่ช่วยกันผลักดันจนทำให้ผมมีวันนี้​ รางวัลนี้จะอยู่​ในใจ​ และความทรงจำ​ และเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญของผมตลอดไป​ ขอบคุณ​ครับ
อัษฎากรณ์ ขันตี
20 มกราคม 2565

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 3)

ทักษะทางสังคมสำหรับบุคคลออทิสติก