ทำอย่างไร ให้เปลี่ยนทัศนคติที่ดีขึ้นกับบุคคลออทิสติก


 ทำอย่างไร ให้เปลี่ยนทัศนคติที่ดีขึ้นกับบุคคลออทิสติก

อัษฎากรณ์ ขันตี



            บุคคลออทิสติกนะครับ เป็นบุคคลที่มีปัญหาในการเรียนรู้ มีพฤติกรรมที่ซ้ำ ๆ  มีปัญหาในการสบตาคน มีปัญหาในการเข้ากับเพื่อน มีปัญหาทางด้านอารมณ์ แต่ทว่า พวกเขามีความสามารถและอัจฉริยะในด้านต่าง ๆ มีความเก่งเฉพาะด้าน แถมแสดงทักษะต่าง ๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ ทั้งวาดภาพ เล่นดนตรี เล่นกีฬา คอมพิวเตอร์ และมีอื่น ๆ อีกมาก ยิ่งไปกว่านั้น จุดเด่นของบุคคลออทิสติกคือความบริสุทธิ์ ไม่มีลับลมคมใน ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือกลอุบายใด ๆ  จริงใจ อ่อนโยน มีความเมตตา ใจดี ชอบแบ่งปัน ชอมผูกมิตรกับคน ไม่มีพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากล ละเอียด ซื่อตรง และมีระเบียบ 





            
            ในสังคมบ้านเราอาจจะยังไม่ค่อยที่จะเข้าใจเรื่องนี้กันมากนัก ทำให้หลาย ๆ คนตีตราบุคคลออทิสติกในทางไม่ดี เช่น มองว่าเป็นตัวตลก มองว่าเป็นตัวปัญหา มองว่าเป็นคนที่ไม่น่าคบ และมีคนอีกจำนานมากที่ไม่รู้ว่าจะเข้ากับบุคคลออทิสติกได้อย่างไร ทำให้บุคคลออทิสติกเกิดความห่างเหินกับสังคม บุคคลออทิสติกหลาย ๆ คนก็ต้องการจะมีเพื่อน แต่ต่างคนต่างไม่ทราบถึงการวางตัวกับบุคคลออทิสติกมากนัก 

        วันนี้ ผมจะมาเล่าถึงวิธีการในการเปลี่ยนทัศนคติแก่บุคคลออทิสติก  อันนี้ก็ทราบดีว่าไม่สามารถทำให้ท่านเห็นด้วยกับผม 100 เปอร์เซ็นต์นะครับ แต่ขอให้โอกาสกับพวกเขาให้สามารถมีที่ยืนในสังคม รับการดูแลจากสังคมอย่างทั่วถึง ให้โอกาสในการเป็นเพื่อนและมีส่วนร่วมในสังคม และใที่สำคัญ คือทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพื่อที่จะให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยมีอุปสรรคน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมจะแนะนำวิธีมา  6  ข้อนะครับ




        1. ปฏิบัติตัวกับเขาเหมือนคนปกติ อันนี้นะครับ อาจจะปรับตรงนี้ยากนิดนึง แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าบุคคลออทิสติก คือคน ๆ หนึ่ง ที่มีความรู้ ความสามารถ ความบริสุทธิ์ เพียงแต่จะสนใจแต่ในโลกของเขาเอง และทุกคนที่เป็นออทิสติก แทบจะมีโลกเป็นของตัวเอง ก็ขอให้เข้าใจตรงนี้นิดนึง สำหรับข้อนี้ ผมอยากให้ท่านปฏิบัติตัวกับเขาเหมือนคนปกติ เพราะไม่อยากมองว่าแตกต่างจากใคร ไม่อยากมองว่าเป็นคนนอกสายตา แต่อยากมองว่า ทุกคนมีความเป็นคนเท่ากัน มีสิทธิ์มีเสียงเหมือนกัน 
            การปฏิบัติตัวกับเขาเหมือนคนปกตินะครับ จะช่วยให้พวกเขาสามารถอยู่ในสังคมได้ สามารถที่จะเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน เรียนรู้ถึงความแตกต่างกันของสังคม แต่จะมีความต้องการจำเป็นพิเศษอยู่บ้าง เช่น ดูแลและเอาใจใส่เขาให้ดี ๆ  ถามสาระทุกข์สุขดิบบ้าง ให้เวลาและโอกาสกับพวกเขาอย่างต่อเนื่อง 
เรียนรู้ความถนัดและความชอบ ชวนเขาพูดคุยและทำกิจกรรมบ่อย ๆ 
            สำหรับข้อนี้ ผมจะอธิบายง่าย ๆ คือทำทุกอย่างให้พวกเขาเป็นคนปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อาจจะต้องใช้ความรัก ความเข้าใจ ความจริงใจ โอกาส และเวลาที่มากกว่าคนปกติ และต้องดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิดครับ  

        2. คิดว่าบุคคลออทิสติกพัฒนาได้ อันนี้นะครับ ขออธิบายว่า อาจจะทำใจลำบากนะครับ เนื่องจากท่านอาจจะเสพข่าวหรือได้ยินในทางที่ไม่ดี แต่หารู้ไหมครับ หากท่านดูแลเขาให้ดี ๆ เปิดใจ เชื่อว่าพวกเขาทำได้ ลองให้โอกาสในการแสดงออกบ้าง อย่าไปกดดัน อย่าไปดุด่า แต่ควรที่จะส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อให้พวกเขาสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
            การเปิดใจผมเชื่อว่าอาจจะลำบาก แต่ถ้าเปิดใจว่าพวกเขามีความสามารถนั้น ท่านอาจจะค่อย ๆ ทำลายทัศนคติที่ไม่ดีออกจากความคิด และต้องหมั่นสังเกตด้วยนะครับ ว่าพวกเขาชอบอะไร เช่น เขาชอบวาดรูปใช่ไหมครับ ก็ปล่อยให้เขาวาด และถ้าท่านชอบวาดรูป ควรที่จะให้เขาวาดรูปไปด้วยกันกับเขา แต่ถ้าไม่ชอบ หรือไม่ถนัด ก็ควรหมั่นสังเกตเขา และสองในเขาสาธิตการวาดภาพให้ดู ผมเชื่อว่าพวกเขาสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีขีดจำกัดครับ 






        3. หาจุดเด่น และจุดที่ต้องปรับปรุงให้เจอ บุคคลออทิสติกเหมือนกับคนปกติทั่วไปนะครับ ที่มีทั้งข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความสามารถที่แตกต่างกันเช่นกัน อันนี้ผมจะแบ่งเป็น 2 ข้อย่อยนะครับ 
            3.1 หาจุดเด่น ท่านควรที่จะลองสังเกตเขาบ่อย ๆ และถามเขาได้ ว่าเขาชอบอะไร แต่ควรดูสีหน้าด้วยนะ ไม่งั้นอาจจะไม่พอใจ หรือโกรธออกมา ควรให้เวลาในการเก็บข้อมูล ทำความเข้าใจแก่เขา อาทิเช่น เด็กคนนี้เล่นดนตรีเก่ง ก็ควรที่จะให้เขา แสดงความสามารถ แล้วทำไงต่อดีครับ ควรที่จะแชร์และเล่าให้สังคมฟัง และถ้ามีโอกาสก็ให้เขาแสดงความารมารถตามสถานที่ หรือสื่อต่าง ๆ โดยที่อาจจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดครับ
            3.2 หาจุดที่ต้องปรับปรุง อันนี้ก็ต้องใช้การสังเกตอีกล่ะครับ อิอิ คือต้องเข้าใจนิดนึงว่าบุคคลออทิสติกอาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์บ้าง อาทิ ทำอะไรซ้ำ ๆ  ปรบมือ เล่นมือ พูดคนเดียว มีอารมณ์ต่อต้านหากไม่ตรงเวลา หรือเหตุสุดวิสัยอื่น ๆ อันนี้ก็ต้องใช้เวลา ในการดูและสอดส่อง แล้วจะแก้ตรงนี้อย่างไร ก็แน่นอน ต้องใช้เวลา ควรที่จะพูดกันดี ๆ ตักเตือนด้วยเหตุด้วยผล ต้องใช้ภาพเพื่อให้พวกเขาใช้เวลาในการปรับปรุงตัว อย่าดุด่า หรือใช้ออารมร์ อย่าสร้างความกดดัน แต่ควรที่ะฝึก และสะกิดเขา ให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้ 

        4. ใจเย็น ๆ อดทน ผ่อนหนักผ่อนเบากันบ้าง อันนี้ก้ฮย่างที่ว่าแหละครับ เป็นเรื่องที่ต้องใจเย็น ๆ อดทน เพราะการที่จะพัฒนาและทำให้บุคคลออทิสติกมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ คงเป็นไปไม่ได้ในวันสองวัน แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างพัฒนาการที่ดีขึ้น ใช้เวลาในการปรับปรุงพฤติกรรมที่ดีขึ้น ใช้เวลาเพื่อให้พวกเขาเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ขึ้น 
        และที่สำคัญ หากมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น พูดเยอะจนทำให้รำคาญ แล้วจะทำอย่างไรถ้ารำคาญ ควรจะนับ 1 2 ไปเรื่อย ๆ ควรตั้งสตินิดนึง และถ้าไม่ชอบพฤติกรรม ก็ควรที่จะทำความเข้าใจว่าทำไม เหตุผลใด สิ่งเร้าใด ถึงทำให้เขาเป็นแบบนี้ ดังนั้น ควรให้เวลาที่จะทำให้เขามีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ควรที่จะใจเย็น ๆ มีการผ่อนหนักผ่อนเบากันบ้าง เรื่องนี้ถ้าใช้อารมณ์ ความกดดัน หรือความรุนแรง ยิ่งจะทำให้เรื่องแย่ลง ควรจะนิ่ง ๆ และใช้เหตุผลดีกว่า 



        5. รับฟัง หรือเข้าใจในการพูดและแสดงออกของเขา การรับฟัง เข้าใจในการแสดงออกของเขา เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้บุคคลออทิสติกสามารถอยู่ในสังคมได้ ข้อนี้ผมขอยกตัวอย่างที่ผมเจอบ่อยมาก ๆ และเป็นสิ่งที่ผมเป็นมา 3 ข้อนะครับ 
            5.1 หากบุคคลออทิสติกต้องการพูด หรือเล่าเรื่องใด ๆ ก็ขอให้อยู่ฟังจนจบนะครับ อันนี้ก็ต้องเข้าใจว่าบุคคลออทิสติกมีโลกเป็นของตนเอง และอยากให้คนมาอยู่ในโลกของเขา หากท่านรำคาญก็นับ 1 2 ไปเรื่อย ๆ (นับในใจนะครับ) จากนั้นเมื่อพูดจบแล้ว สามารถซักถามได้ตามปกติ หรือแนะเสริมได้ เพียงแต่ต้องแนะทีละข้อ และใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย แล้วถ้าท่านไม่ว่างล่ะ ก็ให้หาเวลาในการพูดคุยกับพวกเขา เมื่อว่างแล้ว และถ้าเป็นไปได้ ควรที่จะมีเวทีในการพูดคุย หรือมีการสนทนาเพื่อให้บุคคลออทิสติกมีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้น
            5.2 หากบุคคลออทิสติกเกิดปัญหา หรือไม่สบายใจใด ๆ ท่านควรจะใจเย็น รับฟังว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมถึงไม่พอใจ ทำไมถึงไม่สบายใจ และที่สำคัญ ควรปล่อยให้เขาพูดหรือระบายอารมณ์ออกมาให้เสร็จก่อน พออารมณ์นิ่งขึ้น ท่านก็ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ เข้าใจ และค่อย ๆ ที่จะทำให้เขาสบายใจมากขึ้น และต้องทำให้เขาสบายใจมากขึ้น คำพูดที่ควรจะพูดคือ (ส่วนหนึ่ง)

            "ไม่เป็นไรนะ เราเก่งอยู่แล้ว"

             "มีอะไรก็ระบายได้ตลอดนะ"

            5.3 หากบุคคลออทิสติกต้องการแสดงออก ควรที่จะให้โอกาสในการพัฒนาเขาอย่างเต็มที่ อาจจะผิดพลาด หรือมีปัญหาไปบ้าง แต่ก็ต้องใช้เวลา และใจเย็นนิดนึง การที่จะให้บุคคลออทิสติกแสดงออกสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องมีคนที่ดูแลและประกบอย่างใกล้ชิต (ไม่ใช่ไปจุ้นจ้านนะครับ) ควรที่จะหาช่องทางในการแสดงทักษะ และความสามารถ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีที่ยืนในสังคมได้ครับ

        6. ร่วมกันแลกเปลี่ยน และหาวิธีในการอยู่ร่วมกัน ควรจะมีการพูดคุยกับกลุ่มเพื่อน ครูที่สอน ผู้ดูแล บุคคลที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ในการหาช่องทางเพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ในสังคมได้ พึ่งพาตนเองได้ มีชีวิตที่เป็นอิสระ และควรหาวิธีในการอยู่ร่วมกันให้ได้ ซึ่งจะมีวิธีที่หลากหลายกันไป เช่น ร่วมกิจกรรม เปิดเวทีเสวนา ตั้งวงในการพูดคุย หรือมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องครับ การทำแบบนี้ทำให้เป็นการเพิ่มพื้นที่ให้กับบุคคลออทิสติกไปในตัว และไม่ให้ประเด็นเรื่องนี้กลายเป็นแค่ข่าวชายขอบด้วยนะครับ





        ทุกท่านครับ ผมเชื่อว่ายังมีวิธีอื่นอีกมากในการลบทัศนคติที่ไม่ดีของบุคคลออทิสติก นี่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง การที่จะปรับตรงนี้ได้ แน่นอนว่าต้องใช้ทั้งความารัก เวลา และความต่อเนื่อง ผมก็ขอเป็นกำลังใจแก่บุคคลออทิสติกทุกคนให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม ผมขอฝากไปยังทุกท่านนะครับ อย่าเมินพวกเขา ควรยอมรับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในสังคมได้แล้ว วันนี้ขอเท่านี้ก่อนนะครับ สวัสดีครับ




อัษฎากรณ์ ขันตี
1 ตุลาคม 2564


ภาพจาก Facebook มูลนิธิออทิสติกไทย และ pixabay.com





        

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

รีวิวการใช้งาน เว็บไซต์คัดกรองบุคคลออทิสติก

ค่ายเยาวชน ปี 2567