ครูจะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร (ตอนที่ 3)

 


            จากตอนที่ 2 ที่ได้เล่าบทบาทของผู้บริหารแล้วนะครับ ในตอนที่ 3 นี้ จะเล่าว่าครู/อาจารย์ในภาพรวมแล้วจะสามารถช่วยเหลือบุคคลออทิสติกอย่างไร อันนี้ต้องบอกก่อนว่า บทความตอนนี้ทั้งครู ทั้งอาจารย์ในระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยใช้ได้หมดเลยนะครับ เพราะอย่างที่บางคนทราบว่าสังคมสมัยนี้ต้องเปิดโอกาสเรื่องของการศึกษาตลอดชีวิตอย่างเต็มรูปแบบแล้ว จากบทความเรื่อง "การศึกษาตลอดชีวิต : พัฒนาสังคมไทยสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ " ของคุณดุษณี คำมี ได้กล่าวไว้ว่า "การศึกษาตลอดชีวิต เป็นกระบวนการศึกษาที่มีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคล ในรูปแบบของการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัยที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อมุ่งให้บุคคลได้พัฒนาตนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อเนื่องไปให้เต็มศักยภาพ โดยบุคคลนั้นจะต้องมีแรงจูงใจที่จะศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง และเรียนรู้อยางต่อเนื่อง" ดังนั้นในการพัฒนาบุคคลออทิสติกจะต้องมีความต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพอีกด้วย

            แน่นอนว่าปัญหาตอนนี้คือบุคคลออทิสติกหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาคลาสสิคปัญหาหนึ่งเลยทีเดียว และอีกอย่างที่ผมพอจะเข้าใจนั่นคือ..บุคคลออทิสติกต้องได้รับการดูแลและสนับสนุนเรื่องของการศึกษา สังคม และการดำรงชีวิตไปตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากครอบครัวจะเป็นหลักแล้ว ก็ยังมีครู/อาจารย์ในการเสริมทักษะ และพัฒนาการ ทำให้บุคคลออทิสติกมีโอกาสพัฒนาศักยภาพต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วถ้าพ่อแม่ไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้แล้ว หรือออกมาใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีครอบครัว "ครู/อาจารย์" ถือว่าสำคัญมาก ๆ สำหรับบุคคลออทิสติก เพราะบุคคลออทิสติกจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร การเข้าสังคม การเข้าใจสถานการณ์ การวางตัว แล้วถ้าทำอะไรไม่ถูก หรือต้องการคนที่จะดูแลให้คำปรึกษา คนที่จะช่วยได้ดีที่สุดหากไม่มีครอบครัวแล้ว นั่นคือ "ครู/อาจารย์" นั่นเอง 

              ทว่า ยังมีครู / อาจารย์อีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบบทบาทจริง ๆ ว่าจะสามารถช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร ในบทความนี้จะมีคำตอบโดยภาพรวมนะครับ ที่จะเขียนตอนนี้เพื่อให้เข้าใจว่าบทบาทของครู/อาจารย์ในภาพรวมควรจะทำอย่างไร ให้บุคคลออทิสติกได้พัฒนาศักยภาพต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตอนนี้จะพูดถึงการวางตัว การสอน และการดูแลว่า ถ้าจะพัฒนาจริง ๆ แล้วต้องทำอะไรบ้าง


แล้วคนที่เป็นครู/อาจารย์ จะช่วยเหลือบุคคลออทิสติกได้อย่างไร 

            

            1.ทำความเข้าใจกับเด็ก/บุคคลออทิสติกให้มากที่สุด ข้อแรกที่ต้องทำคือข้อนี้เลยครับ ถ้าครูจะเจอบุคคลออทิสติกช่วงแรก ๆ  ต่อให้อยู่ในระดับไหนจะต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วยทุกครั้ง ทำไมต้องทำแบบนั้น คำตอบคือ เพื่อให้เข้าใจตัวตนของเขา ว่าเขาชอบอะไร ชอบทำอะไร สิ่งที่ชอบ/ไม่ชอบคือ โดดเด่นด้านไหน ต้องปรับตรงไหนบ้าง มีอารมณ์/พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ไหม นอกจากนั้นจะต้องบอกผู้ปกครองคร่าว ๆ ว่าจะสอนแบบไหน ต้องปรับตรงไหน และต้องพัฒนาศักยภาพด้านไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับบุคคลออทิสติกแต่ละคนนั่นเอง

            2.ทำความเข้าใจและคุ้นเคยอย่างต่อเนื่อง อันนี้สำคัญมาก ทำไมถึงจะต้องทำ คำตอบคือการพัฒนาบุคคลออทิสติกต้องใช้ความคุ้นเคยและต่อเนื่อง บุคคลออทิสติกมักจะหมกมุ่นกับสิ่งที่ตนเองสนใจและคุ้นเคย และจะเรียนรู้จากความคุ้นเคยมากกว่าการพูดท่องจำ และการเลคเชอร์ นอกจากนี้ ครูและอาจารย์ต้องทำความเข้าใจ ศึกษาตัวตนของเขาให้มาก ๆ ถ้าบุคคลออทิสติกอยู่ในเทียร์ 2-3 จะต้องให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลอธิบายให้เข้าใจ แต่ถ้าเป็นเทียร์ 1 หากเขาสามารถพูดเองได้ก็ให้พูดอธิบายเรื่องตนเองให้เข้าใจ แล้วให้ผู้ปกครองและผุ้ดูแลมาอธิบายให้เข้าใจ จากนั้นก็ต้องสังเกตอย่างต่อเนื่อง ว่าเขาทำอะไรอยู่ ชอบทำอะไร ไม่ชอบทำอะไร และทำอะไรได้โดดเด่นบ้าง

            นอกจากนี้ ยังต้องทำความคุ้นเคย ถามว่าทำอย่างไรคือค่อย ๆ คืบเข้าไในชีวิตของเขา เราจะสามารถเริ่มได้โดยการลองพูดคุยแบบง่าย ๆ ก่อน เช่น "ทำอะไรอยู่" "ชอบดูหนังเรื่อง...เหรอ" "คุยสักนิดได้มั้ย" พอคุยง่าย ๆ แล้วก็ต้องเปิดโอกาสให้เด็ก/บุคคลออทิสติกได้ออกมาพูดคุยบ้าง อีกทั้งอย่างทำตัวเหินห่าง อันนี้ขอร้องนะครับ เพราะถ้าทำตัวแบบนั้นเขาจะมีความรู้สึกว่า "นี่ทำอะไรผิดหรือเปล่า/ทำไม่เขาไม่คุยกับเรา" ผมไม่อยากให้มี Feedback แบบนี้เกิดขึ้น แต่อย่างให้มี Feedback แบบที่ว่า "คุยแล้วสบายใจ/สามารถเล่าได้ทุกเรื่องเลยนะ" เรื่องนี้สำคัญ แล้วถ้าบุคคลออทิสติกเติบโตขึ้น ก็ควรหาโอกาสในการติดตามพวกเขา และสามารถช่วยเหลือได้เมื่อมีความจำเป็น และอย่าทอดทิ้งเขาเป็นอันขาดนะครับ

            3.ดูแลเด็ก/บุคคลออทิสติกให้ดีที่สุด ข้อนี้จำเป็นต้องทำจริง ๆ ถ้าเป็นเทียร์ 3-2 จะต้องมีพี่เลี้ยงคอยประกบ แล้วครูก็จะต้องสอนเรื่องการดำรงชีวิต ปรับพฤติกรรม ฝึกการพูด การเคลื่อนไหว เป็นต้น แต่ถ้าเทียร์ 1 จะไม่ได้รับการดูแลเลย คำตอบคือ ผิดครับ หลายคนจะชอบพูดว่า ต้องดูแลตนเอง ต้องช่วยเหลือตนเอง ผมว่ามันก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ในกรณีที่แบบว่า ต้องการคนรับฟัง ต้องการฟื้นฟูจิตใจ ต้องการพัฒนาศักยภาพ ต้องการเพื่อน ต้องการมิตรล่ะ จะทำอย่างไร คำตอบคือ ครูจะต้องมาดูแลเรื่องนี้ ถามว่าจะดูแลอย่างไร คำตอบคืออย่างแรกคือต้องรับฟังเวลาที่ไม่สบายใจ และให้คำปรึกษาเวลาไม่สบายใจ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขให้ทุกเรื่อง หากเขาแก้ปัญหาเองได้ก็ลองให้แก้ปัญหาเอง ติดขัดอย่างไรครูก็จะดูแลอยู่ข้างหลัง แล้วชี้แนะให้คำแนะนำ แต่ถ้าหากแก้ไขไม่ได้ก็แจ้งให้ผู้ปกครองได้รับทราบ อย่างที่สองคือการให้เขาได้ลองพูดเล่าเรื่องว่า เจออะไรมาบ้าง ทำกิจกรรมอะไรบ้าง มีอะไรจะเล่าไหม แล้วให้เขาได้ออกมาพูดคุยครับ

            นอกจากนี้ ยังต้องดูแลให้บุคคลออทิสติกสามารถพัฒนาศักยภาพต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การดูแลด้านการเรียนคือการตรวจสอบว่าเขาชอบวิชาอะไร ชอบทำอะไร ถ้ารู้แล้วก็ต้องฝึกให้บุคคลออทิสติกสามารถพัฒนาความสามารถให้ดีขึ้น และถ้าวิชาไหนที่ไม่ถนัดหรือเรียนไม่ทันเพื่อน คำตอบคือต้องค่อย ๆ สอน หากติดขัดตรงไหนสามารถช่วยเหลือได้ทันที นอกจากนี้ยังต้องดูแลการใช้ชีวิตกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนว่าเข้ากับเพื่อนได้ไหม สามารถดูแลกันได้หรือเปล่า สามารถทำกิจกรรมได้ไหม ถ้าทำได้ก็ให้มีส่วนร่วม โดยจะต้องมีครูดูแลอย่างใกล้ชิด

            4.ค่อย ๆ พูด , ค่อย ๆ สอน  แน่นอนว่าบุคคลออทิสติกจะเรียนรู้ได้ไม่ทันใจครูมากนัก อันนี้ต้องเข้าใจนะครับ ขอให้อดทนอดกลั้นให้มากที่สุดเท่าที่ตนเองจะไหวและทำได้ จริงอยู่ที่ว่าจะเรียนรู้ช้ากว่าคนทั่วไป แต่นะครับ ถ้าสามารถเรียนรู้ได้ก็จะต่อยอดออกมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นค่อย ๆ พูด สำคัญมาก ถามว่าทำอย่างไร คำตอบคือ ต้องค่อย ๆ พูด พูดว่าวิชาเรียนเป็นแบบนี้นะ ต้องทำแบบนี้นะ ทำแบบนี้ไม่ได้นะ และต้องอธิบายเหตุผลประกอบด้วย บุคคลออทิสติกจะเรียนรู้ได้ต้องมีเหตุผลประกอบด้วย และต้องอธิบายให้เข้าใจ โดยจะต้องพูดทวนอย่างน้อยสองสามครั้ง และทำอย่างไรก็ได้ให้เขามีความรู้สึกว่า "เข้าใจแล้ว" "อ๋อ เป็นแบบนี้นั่นเอง" แม้เขาอาจจะไม่สามารถแสดงออกมาได้ดีนัก แต่อย่างน้อยสีหน้าและท่าทางก็สามารถแสดงออกได้แล้ว ขออย่าให้เขามีความรู้สึกว่า "ทำอะไรผิดเหรอ ถึงเมินเรา"

            ค่อย ๆ สอน เรื่องนี้ต้องทำนะครับ แล้วทำอย่างไร คำตอบคือ สอนในรายวิชาแบบช้า ๆ ทวนซ้ำสองสามรอบ หากติดขัดตรงไหนจะต้องบอกทันที และอธิบายให้เข้าใจมากที่สุด และต้องสอนจนกว่าจะเข้าใจ แต่ไม่ควรให้เด็กเครียด กดดัน การสอนของครูไม่ควรจะสอนในรายวิชา แต่ควรสอนเรื่องของพฤติกรรม การเข้าสังคม การพูด การใช้ชีวิต เป็นต้น การสอนของครูนั้น ควรดูความสามารถของเขาด้วย ถ้าชอบอะไร ก็ให้ต่อยอดด้านนั้นไปเลย และประสานงานให้ครูในด้านนั้น ๆ ได้ร่วมมือช่วยกันพัฒนาศักยภาพต่อไปในอนาคต แน่นอนว่าทำไม่ได้ทันที ต้องใช้เวลา แต่ถ้าทำได้แล้วก็จะสามารถพัฒนาต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัดครับ และตรวจสอบว่าเรียนทันเพื่อนหรือไม่ แน่นอนว่าบุคคลออทิสติกจะต้องมีวิชาที่ต้องเรียนกับเพื่อนอันนี้ต้องสังเกต และดูแลอย่างใกล้ชิด หากเรียนไม่ทันเพื่อน คำตอบคือ จะต้องหาเวลาสอนเสริม และจะต้องมีบัดดี้ในการใช้ชีวิตในโรงเรียนด้วย (ข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้ที่ : http://ausautis.blogspot.com/2022/11/buddy.html) เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถเรียนอยู่ในโรงเรียนได้อย่างมีความสุขครับ

            5.ต้องสอนเรื่องของการพูด/การเข้าสังคม/การดำรงชีวิต เรื่องนี้จะต้องสอนอย่างดีที่สุด เพราะบุคคลออทิสติกจะมีความผิดปกติในเรื่องนี้ และถามว่าจะสอนอย่างไร  คำตอบอยู่ที่ตรงนี้ครับ

            เรื่องของการพูด ในการสอนเรื่องการพูดนะครับ ควรจะสอนแบบว่า จะพูดกับเขาอย่างไรให้เข้าใจ ยกตัวอย่างนะครับ การไปซื้อของก็ควรสอนพูดว่า "เอาข้าวผัด 1 จานนะคะ/ครับ" จากนั้นต้องรอจนกว่าจะหยิบจานข้าวมาให้ แล้งให้เขาลองพูดว่า "เท่าไรคะ/ครับ" แล้วถ้าคนขายตอบแล้วก็ยื่นเงิน และทอนเงินตามจำนวน การพูดที่วรฝึกคือการพูดคุย การทักทาย การปฏิเสธ เป็นต้น

            การเข้าสังคม อันนี้ต้องฝึกทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ทีนี้การสอนในโรงเรียนควรจะฝึกเรื่องนี้อย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำไมต้องทำแบบนั้น คำตอบคือ ต้องการให้บุคคลออทิสติกมีทักษะทางสังคมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสอนทักษะทางสังคมควรจะฝึกตั้งแต่การทักทาย การวางตัว การเข้าหาคน การมีส่วนร่วม การทำงานร่วมกัน การพูดคุย ไปจนถึงการออกสื่อนั่งเอง

            การดำรงชีวิต เรื่องนี้ควรจะสอนในสิ่งที่ที่บ้านไม่มีโอกาสได้สอน ควรจะสอนพวกการทำอาหาร ทำกับข้าว การใช้เงิน การทำรายรับ - รายจ่าย การบริหารจัดการ การฝึกเล่าเรื่องราว การฝึกการเดินทาง การอ การรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

            6.หาช่องทางในการพัฒนาศักยภาพร่วมกัน และประสานงานไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง การที่จะพัฒนาศักยภาพนั้น ควรจะมีทางเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้บุคคลออทิสติกสามารถพัฒนาได้อย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้นต้องหาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในสาขานั้น ๆ ในการฝึกฝนบุคคลออทิสติกให้ก้าวไปสู่สังคม และแสดงศักยภาพให้สังคมได้รับรู้ นอกจากนี้ยังต้องประสานงานไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาช่องทางการฝึกฝน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และจะทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น นายอ.ชอบร้องเพลง ครูจะต้องหาครูสอนร้องเพลง และคนประสานงาน เพื่อนำพาให้เขาได้แสดงความสามารถ และไปประกวดตามเวทีใหญ่ ๆนั่นเอง

            7.เป็นล่ามเมื่อเจอคนที่ไม่เข้าใจในตัวเด็ก/บุคคลออทิสติก จริง ๆ เรื่องนี้ต้องทำเป็นอย่างยิ่ง หาเจอเพื่อนครู นักเรียน/นักศึกษา หรือคนที่ไม่เข้าใจบุคคลออทิสติก ให้ครูและอาจารย์เป็นล่ามในการอธิบาย และจะอธิบายอย่างไร อันนี้ในความเห็นผมนะครับ สามารถดัดแปลงได้ตามความเหมาะสมคือ "น้องเขาเป็นออทิสติกนะ เขาอาาจะพูดได้ไม่ชัด วางตัวไม่ถูก และไม่เข้าใจบริบท ควรจะดูแลพูดคุยหน่อยนะ" เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น และสามารถต่อยอดได้ เกิดอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง

             8.ติดตามการเติบโตของบุคคลออทิสติกอย่งต่อเนื่อง การสอนบุคคลออทิสติกไม่ใช่ว่าสอนจบแล้วหมดหน้าที่นะครับ ต้องติดตามด้วยว่าเขาทำอะไรบ้าง ชีวิตเป็นอย่างไรตอนนี้ และตอนนี้เขาทำอะไรบ้าง อันนี้จะช่วยเหลือในรูปแบบหนึ่ง แต่อย่าห่างหายก็พอนะครับ

              เป็นไงบ้างครับสำหรับบทความตอนนี้ สรุปแล้ว การสอนบุคคลออทิสติกนั้น จะทำให้ดีได้ คือต้องเข้าไปอยู่ในใจเขาก่อน แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง ตอนหน้าผมจะเล่าว่าถ้าเป็นครูคณิต-วิทย์-ไอที ควรจะสอนและช่วยเหลือบุคคลออทิสติกอย่างไรให้เกิดศักยภาพสูงสุด สำหรับวันนี้ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ


                                                                                                                                                                    อัษฎากรณ์ ขันตี

10 มีนาคม 2566

                

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถึงเวลารึยังที่จะมีวิชา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลาย อยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกระดับชั้นและการทำงาน

ทักษะทางสังคมสำหรับบุคคลออทิสติก